2565/11/18

ภาษีที่ดินและมรดก

** ขอบคุณผู้สรุปมาให้ด้วยนะครับ และหาต้นทางไม่ได้ เพราะมาจากทางไกลน์กลุ่ม แต่เห็นว่าเป็นประโยชน์ดีเลยเอามาให้อ่านกัน **

สรุปสาระเกี่ยวกับภาษีที่ดินและมรดก ผู้บรรยายคือ Partner และ Senior Advisor จาก Baker & McKenzie

1) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ลด 90% มา 2 ปี ไม่ได้ลดต่อแล้วนะ จุดที่พึงระวังคือ หมวดที่ดินรกร้างจะโดนขึ้นภาษีทุก 3 ปี โดยจะมีผลครั้งแรกปีหน้า (2566)

2) ในภาคการลงทุน มีการนำเรื่อง Financial Transaction Tax (ภาษีจากธุรกรรมทางการเงิน) กลับมาพิจารณา ซึ่งมีอยู่แล้วตั้งแต่ 1991 แต่ได้รับการยกเว้นมาตลอด คาดว่าอัตราจะอยู่ที่ 0.1% คือทุกครั้งที่ซื้อและขาย และยกเว้นธุรกรรมที่มูลค่าต่ำกว่า 1 ล้านบาท

3) รายได้จากต่างประเทศ หากไม่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน จะไม่นับเป็นเงินได้- หมายรวมถึง รายได้จากค่าเช่าของอสังหาในต่างประเทศ หรือแม้แต่เงินประกันชีวิตในต่างประเทศที่เราเป็นผู้รับผลประโยชน์ 

4) ไทยเข้า CRS (Common Reporting Standard) แล้วนะจ๊ะ ตั้งแต่ กันยา 66 เป็นต้นไป กรมสรรพากรจะได้รับข้อมูลบัญชีและทรัพย์สินของเราที่ต่างประเทศ (อาจมีผลกับการนับมูลค่ากองมรดก แต่ไม่มีผลกับการโอนเข้ามาเท่าไหร่ เพราะไม่ต้องเสียภาษีจากรายได้ที่เกิดในประเทศอื่น- เพราะปกติเราต้องเสียที่ประเทศต้นทางไปแล้วอะนะ)

5) ภาษีการให้: กรณีมีชีวิตเกิน 20 ล้านบาทต่อปีต่อคน ส่วนที่เกินจะต้องเสียภาษี 5%  กรณีเสียชีวิต คือ ภาษีมรดก: เกิน 100 ล้าน ถึงเก็บ

จะบอกว่าเรื่อง 100 ล้านนี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่หลายคนคิดนะ คือ 100 ล้านมันไม่ได้หมายความถึงเงินสดที่พ่อแม่จะยกให้เท่านั้น มันหมายถึงทรัพย์สินที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด เช่น หุ้นในบริษัทส่วนตัว(ซึ่งจะคิดจากมูลค่าทางบัญชี ไม่ใช่ทุนจดทะเบียน) หุ้นในพอร์ท และที่มีปัญหามากที่สุดคือ ที่ดิน…ได้ไปประเมินกันบ้างมั้ยว่าตึกแถว โรงงาน หน้าร้าน หรือแม้แต่ที่ดินที่ช่วยอาเจ็กที่ตอนเด็กๆอยู่ข้างบ้านป๊าซื้อมา มันมูลค่าเท่าไหร่แล้ว ถ้าเราได้มรดกเป็นที่ดินมา แล้วไม่มีเงินจ่ายภาษีมรดก โดยทางทฤษฎีคือ สรรพากรจะบังคับขาย

===วิธีบริหารจัดการมรดก
ที่แนะนำคือ===

- จัดการก่อนที่มันจะเป็นมรดก เช่น ทยอยโอนปีละ 20 ล้านไปตั้งแต่ตอนนี้ หรือถ้ามองว่าที่ดินนี้อาจจะไม่ได้ขายในรุ่นถัดไปอาจจะแบ่งโฉนดโอนไปที่รุ่นหลานเลยก็ได้

- ไม่แบ่งมรดก 😓คาไว้เป็นกองมรดกแบบนั้น (แต่ไม่แนะนำนะ) เพราะ ภาษีมรดกจ่ายตอนแบ่งกองมรดก (ตอนนี้มีคดีนึงค้างอยู่ศาลฎีกาว่า กองมรดกที่ยังไม่แบ่งมีหุ้นและที่ดินที่ได้รับปันผลและค่าเช่าเข้ามาไปยังบัญชีเจ้ามรดก ทางสรรพากรบอกว่าให้เอาดอกผลเหล่านั้นมารวมเพื่อคำนวณภาษีมรดก แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตัดสินในทางให้ประโยชน์แก่ทายาท คือ รายได้หลังเจ้ามรดกเสียชีวิตแล้วไม่เป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก) แต่มันจะคาไว้ได้ซักแค่ไหนกัน 

- ทำประกันชีวิต เพราะมันไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดก (เช่น ถ้าเก็บ cash เยอะๆ ก็ไปซื้อประกันแทน) ทั้งนี้ ถ้าเก็บที่ดินไว้เยอะ ก็ประเมินว่ามรดกจะต้องโดนภาษีเท่าไหร่ (รวมไปถึงค่าโอนเท่าไหร่) อย่างน้อยควรทำประกัน cover ส่วนนั้นไว้

- ตั้งทรัสต์ โอนทรัพย์สินไว้ในทรัสต์ ทรัสต์ไม่ตายตาม controller ทรัสต์เป็นอมตะ (แต่อาจจะใช้ยากกับที่ดินในไทย เหมาะกับพวกเงินลงทุน คือตั้งทรัสต์ที่เมืองนอก ยังเล่นหุ้นไทยได้นะ)

- ย้ายทรัพย์สินไปเป็นทรัพย์สินที่ไม่มี record เช่น ทอง (physical) ภาพเขียน อัญมณี นาฬิกา (แต่ส่วนใหญ่มันจะยิ่งขาดสภาพคล่อง)

===เรื่องย่อยอื่นๆในด้านมรดก คือ ===

- อสังหาริมทรัพย์นอกประเทศ เมื่อเจ้าของตาย มันจะโดนภาษีมรดกทั้งสองประเทศนะ ทั้งประเทศต้นทางและยังถูกเอามานับรวมเป็นทรัพย์สินในกองมรดกที่ไทยด้วย (แต่กรมสรรพากรจะรู้ว่ามีบ้าน/ที่ดินนั้นมั้ย อันนั้นอีกเรื่องนึง เพราะเรื่อง CRS มันยังไม่ครอบคลุมถึงหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในประเทศอื่น)

- หุ้นสามัญในบริษัทไม่จดทะเบียน (หุ้นกงสี) สมมุติว่าพ่อเป็นเจ้าของบริษัททุนจดทะเบียนอยู่ที่ 100 ล้าน แต่มูลค่าทางบัญชีอยู่ที่ 1000 ล้าน เมื่อพ่อเสียชีวิตไป สามารถจะส่งต่อเป็นมรดกมูลค่า 1000 ล้านต่อลูกหลานได้ โดยที่ลูกจะโดนภาษี 5% ของ 900 ล้าน แต่มีอีกวิธี คือ แทนที่ลูกจะรับหุ้นนั้นมาเป็นมรดก ก็สามารถซื้อหุ้นในราคาตามทุนจดทะเบียนจากพ่อแทน แต่ๆๆๆข้อแตกต่างอีกอย่างที่อาจถูกมองข้ามคือ การรับมรดกถือเป็นสินส่วนตัว แต่ถ้าเข้าซื้อหุ้น หุ้นนั้นจะเป็นสินสมรส