2551/12/10

บทบาทของผู้นำกับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กร



ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีก่อน ร้านขายวัสดุก่อสร้างประเภท 3 ที่เน้นขายพวกเครื่องสุขภัณฑ์ และกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ยังเป็นร้านค้าแบบดั้งเดิม ที่มีกองทราย กองกระเบื้องวางเกะกะอยู่เต็มร้าน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้มากนัก และไม่มีความสะดวกสบายเท่าไร ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มช่าง ผู้รับเหมา ที่จะเข้ามาติดต่อซื้อขาย ไม่มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคสุดท้าย (End User)

ผู้นำของร้านค้าแห่งนี้ หรือเรียกกันในสมัยนั้นว่า “เถ้าแก่” ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ด้วยการพัฒนาร้านค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่ปรับบริเวณด้านหน้าของร้านค้าให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีของเกะกะเต็มหน้าร้าน ให้มีตัวอย่างห้องเสมือนจริง (Mock up) ด้วยการติดกระเบื้อง ตั้งวางสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ในแต่ละห้องให้ลูกค้าได้เข้ามาเลือกสินค้า และเห็นภาพในอนาคตได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าลูกค้าซื้อสินค้าไปแล้วนำไปติดตั้งตามแบบนี้ ก็จะได้ห้องน้ำที่ตนเองต้องการ และติดตั้งระบบปรับอากาศทั้งร้าน เพื่อให้ลูกค้า หรือผู้ที่ต้องการเข้ามาซื้อสินค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมทั้งสอนพนักงานขายให้มีความสนใจลูกค้าที่เดินเข้ามาดูสินค้าอีกด้วย

ในยุคสมัยนั้นการเปลี่ยนแปลงของร้านนี้ ได้รับการพูดถึงหรือกล่าวขานกันในวงการค้าปลีกสมัยนั้น ว่า “ร้านจะไปไหวเหรอ ติดแอร์ ลงทุนไปตั้งมากมาย จะขายได้จริงเหรอ” แต่ผู้นำร้านก็ไม่สนใจและพยายามทำธุรกิจแม้ว่าจะมีปัญหาบ้างแต่ก็แก้ไข และฟันฝ่าอุปสรรค จนทำให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และพร้อมที่จะพัฒนาหรือเพิ่มสาขามากขึ้น โดยการลงทุนเพิ่มกับเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งนับว่าเป็นกัลยาณมิตรของเถ้าแก่มาตั้งแต่สมัยเรียน และเติบโตขึ้นมาก็ได้มีโอกาสทำธุรกิจร่วมกันในการขยายสาขาขึ้นมาอีก 4 สาขา ตามมุมเมืองของกรุงเทพมหานคร เป็นการวางตำแหน่งสาขา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ที่จะต้องขยายออกไปยังชานเมืองมากขึ้น นับว่าผู้นำในองค์กรนี้มีวิสัยทัศน์ในการเลือกตำแหน่งสาขาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบันนี้บริเวณที่ตั้งของสาขาต่างๆ นั้นประกอบไปด้วย หมู่บ้าน และ ชุมชนใหม่ๆ เกิดขึ้นสร้างความคึกคักและความเจริญขึ้นมาอีกมากมาย
ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี เป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรทั้งระบบ เปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร จากเดิมที่ใช้กระดาษ และเครื่องคิดเลข ทำให้ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการประสานงานขาย และสั่งซื้อสินค้า ในช่วงแรกที่นำมาใช้นั้นสร้างความวุ่นวายให้กับคนในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน อีกทั้งยังต้องพัฒนาพนักงานให้สามารถรับเทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการค้าวัสดุก่อสร้างสุขภัณฑ์ กระเบื้อง นี้อีกอันหนึ่งก็คือ การปรับเปลี่ยนระบบการซื้อด้วยเงินเชื่อ มาเป็นการซื้อด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต จากเดิมสัดส่วนเงินเชื่อสูงถึงร้อยละ 80 แล้วก็ปรับลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 30 ในช่วงแรกๆ ซึ่งในตอนแรกที่มีการปรับเปลี่ยนนี้ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมา หรือลูกค้าเก่าๆ ได้ต่อว่าและบอกว่าทำถูกหรือ ไม่กลัวลูกค้าหายหรือ?

แต่เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการทำธุรกิจด้วยเงินสดนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปี 40 ทางร้านค้าก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระเงินได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทำให้ร้านค้าแห่งนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตราบจนทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น: