2552/03/11

Lawrence Kohberg กระบวนการพัฒนาการของคุณธรรมหรือศีลธรรม



ลอเรนซ์ โคลเบอร์ก (Lawrence Kohberg) นักจิตวิทยาสังคม แบ่งระดับกระบวนการพัฒนาการของคุณธรรมหรือศีลธรรม ไว้ทั้งหมด 3 ระดับ รวม 6 ขั้นตอน ดังนี้
ระดับที่ 1 เริ่มแรกแห่งคุณธรรม (Perconventional morality Stage) ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนแห่งการพึ่งพา (Heteronomous Stage) เริ่มจากความต้องการส่วนตัวของปัจเจกบุคคลมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม การกระทำที่ถูกต้องคือ การกระทำที่ได้รับความชื่นชม ส่วนการกระทำที่ผิดก็คือการกระทำที่ทำให้ถูกลงโทษ เปรียบเสมือนข้าพเจ้าในวัยเด็กที่ได้ช่วยขายของก็มุ่งหวังประโยชน์ส่วนตน โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของร้านค้าที่หากข้าพเจ้าขายสินค้าราคาแพงก็จะทำให้ข้าพเจ้าได้กำไรมากในครั้งนั้นเพียงครั้งเดียว แต่ร้านค้าอาจจะต้องเสียลูกค้าไปหนึ่งคนก็ได้
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนแห่งอัตนิยมและหวังผลตอบแทน (The Stage of Individualism and Instrumental Purpose and Exchange) ยังอยู่บนความต้องการส่วนตนมากกว่าส่วนรวม แต่มีความสามารถที่จะแก้ไขปัญหาหากมีความขัดแย้ง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ตนเองต้องการ

ระดับที่ 2 ยึดคุณธรรมตามประเพณีนิยม (Conventional Morality Stage)
เป็นตัวเราเองที่เป็นผู้มีส่วนรวมในการกำหนดกฎ ระเบียบเพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม โดยมีการแสดงพฤติกรรมเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการหรือความสนใจจากผู้อื่น ซึ่งแบ่งเป็นอีก 2 ขั้นตอน คือ
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนแห่งความคาดหวังและความสัมพันธ์ (The Stage of Multure Interpersonal Expectation, Relationship and Interpersonal Conformity) เป็นการแสดงออกในการกระทำ เพื่อผู้อื่น และเป็นการกระทำที่ถูกต้อง โดยยังให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย
ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนแห่งระบบสังคมและมโนธรรม (The Social System and Conscience Stage) ตั้งอยู่บนรากฐานเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นเป็นหลัก และแก่สังคมโดยรวม แสดงพฤติกรรมเพื่อความดีของสังคม ทำตามระเบียบ แม้ว่าบางครั้งจะไม่เป็นเห็นด้วยกับกฎหมายบางฉบับก็ตาม เป็นการทำตามหน้าที่ สิทธิที่พึงมีของบุคคล
ข้าพเจ้าอยู่ในระดับที่ 2 ที่ยังมีความคาดหวัง และมีมโนธรรมในการดำรงชีวิต เหตุการณ์หลายๆ ครั้งในชีวิตมักจะเป็นดังตัวอย่างของเหตุผลในขั้นตอนนี้ กล่าวคือ “ฉันจะไปกับเธอ เพราะว่าฉันต้องการให้เธอชอบฉัน” ในบางครั้งของกิจกรรมนอกเวลางาน ข้าพเจ้ามักจะมีความคิดว่าถ้าเราไปร่วมงานหรือไปกิจกรรมนี้แล้ว คนจัดงานหรือคนที่ทำงานด้วยต้องแสดงไมตรีจิต หรือสามารถให้ความช่วยเหลือข้าพเจ้าได้ในอนาคต ซึ่งก็สอดคล้องกับขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนแห่งความคาดหวังและความสัมพันธ์ ในบางช่วงเวลา การที่เราทำตามคำสั่งที่เจ้านายบอก หรือทำตามกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน นั้นก็เป็นเพราะชีวิตของมนุษย์ต้องการความสงบ ความเป็นระเบียบเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษย์

ระดับที่ 3 ยึดคุณธรรมด้วยจิตวิญญาณ (Postconventional Morality Stage)
เป็นตัวเราเองที่ยังยึดถือในกฎเกณฑ์ความถูกผิดของสังคมซึ่งมีไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่มองไปที่คุณค่าพื้นฐานความเป็นมนุษย์สูงสุด ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ
ขั้นตอนที่ 5 ขั้นตอนแห่งสัญญาสังคม (The Stage of Social Contract or Utility and of Individual Rights Stage) เป็นการรักษาและปกป้องประโยชน์หรือคุณค่าโดยรวมของสังคม
ขั้นตอนที่ 6 ขั้นตอนแห่งหลักจริยธรรมสากล (The Stage of Universal Ethical Principles Stage) เป็นการมุ่งเน้นการกระทำที่ถูกต้องตามศีลธรรมที่เป็นสากล เช่น กฎทองคำ “ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนกับที่เราต้องการได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นเช่นกัน”

เมื่อเทียบกับทฤษฎีลำดับขั้นของความต้องการของ Maslow แล้วชีวิตของข้าพเจ้าจะอยู่ในช่วงขั้นตอนที่ 4 คือ ความต้องการความนับถือ เนื่องจากในช่วงชีวิตที่ผ่านมาข้าพเจ้าได้รับการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานขั้นที่ 1 คือความต้องการทางกาย เมื่อหิวข้าพเจ้าก็หาของกินมาได้ และตอบสนองได้อย่างพอเพียงจนบางครั้ง อาจจะมากไปเสียด้วยซ้ำ ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐานอยู่สักเล็กน้อย
ความต้องการขั้นที่ 2 คือ ความต้องการความปลอดภัย มีงานทำมีสวัสดิการที่ดี และได้รับความคุ้มครองเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออุบัติเหตุ ด้วยการซื้อประกันชีวิตในระดับที่ข้าพเจ้าสามารถชำระได้อย่างพอดี
ความต้องการขั้นที่ 3 คือ ความต้องการความรัก อยู่ในบ้านและอยู่ในที่ทำงานก็แสดงความรักต่อผู้อื่น คล้ายกับกฎทองคำ “ปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนกับที่เราต้องการได้รับการปฏิบัติจากผู้อื่นเช่นกัน” เช่น เมื่อเราต้องการคุยกับเขา หรือทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงาน เราก็จะต้องไปคุยกับเขาก่อน หรือยิ้มกับเขาก่อน แล้วนั้นก็จะทำให้เราได้รู้จักหรือร่วมงานกันเป็นอย่างดีต่อไปในอนาคต แต่ก็เป็นเพียงแค่บางครั้งที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้เช่นนี้ เพราะในความคิดของข้าพเจ้านั้นเป็นการยากที่เราจะสามารถเป็นหรืออยู่ในขั้นที่ 6 ของทฤษฎี Kohlberg ได้ตลอดเวลา เพราะว่าคนเรามักมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะนำมากล่าวอ้างได้
แต่หากพวกเรา หรือคนที่อยู่ในสังคมมีความมุ่งหวังที่จะดำเนินชีวิตก้าวเข้าสู่ขั้นที่ 5 หรือขั้นที่ 6 ของทฤษฎี Kohlberg แล้วก็จะทำให้สังคมนั้นมีความสุข และมีความสงบได้ คงไม่มากก็น้อยที่ชีวิตของเราจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในสังคมทุกวันนี้

กลับมากล่าวถึง ขั้นตอนที่ 4 คือ ความต้องการความนับถือ ในชีวิตของข้าพเจ้านั้นจะเป็นในมุมมองของความต้องการความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน มากกว่าการนับถือ ถึงแม้ว่าในช่วงชีวิตการทำงานของข้าพเจ้าจะเป็นพนักงานและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้จัดการแผนกฯ แต่แล้วด้วยความที่ข้าพเจ้ามีความต้องการความสำเร็จที่จะเป็นเจ้าของกิจการ ทำให้ข้าพเจ้าได้ตัดสินใจลาออก และออกมาทำธุรกิจกับเพื่อนๆ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ได้คาดคิดว่าตนเองจะเป็นเจ้าของบริษัทฯ อะไรใหญ่โต หรือร่ำรวยเป็นร้อยล้าน พันล้าน แต่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการในข้อนี้เท่านั้น คือความสำเร็จที่ข้าพเจ้าจะได้เป็นเจ้าของบริษัทฯ หรือมีธุรกิจเป็นของตนเอง โดยที่ตนเองเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทฯ แต่หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ลงมือทำกิจการของตนเอง ลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเอง ทำทุกอย่างทั้งหมดเพื่อให้บริษัทฯ สามารถมียอดขาย และมีรายได้เข้าบริษัทฯ แต่ทว่าภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ มีความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ และประสบภาวการณ์ขาดทุน แต่พวกเราก็พยายามปรึกษาหารือ วิ่งหาทุนมาเพิ่มเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ พวกเราที่เป็นหุ้นส่วนกันถึงแม้จะมีความเห็นแตกต่างกันไปบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับแตกแยก เพราะถือว่าเป็นการตัดสินใจร่วมกันตั้งแต่ต้นที่พวกเราจะออกมาทำธุรกิจเป็นของตนเอง
จนในที่สุดภาวการณ์อันเลวร้ายต่างๆ ทำให้พวกเราตัดสินใจปิดกิจการ ซึ่งเป็น SMEs หนึ่งในหลายร้อย SMEs ที่ต้องปิดกิจการในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ทั้งน้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง การเมืองภายในไม่สงบ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามข้าพเจ้าและเพื่อนๆ ก็ได้แยกย้ายกันไปประกอบอาชีพลูกจ้าง หรือพนักงานตามบริษัทต่างๆ ซึ่งก็ทำให้แต่ละคนมีชีวิตอยู่ และข้าพเจ้าก็ได้มีโอกาสกลับมาพัฒนาด้านจิตใจมากขึ้นอย่างที่กล่าวในข้อที่หนึ่งของบทเรียนนี้ เพราะว่าได้ห่างเหินมานานในช่วงชีวิตที่มัวแต่หมกหมุ่นอยู่กับการทำงานเพื่อดำรงชีพ และปัจจุบันพวกเราทุกคนก็สามารถครองชีพได้ในช่วงเศรษฐกิจขาลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้

สำหรับความต้องการขั้นสูงสุดของ Maslow ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย คือ ความต้องการเป็นคนที่สมบูรณ์ ในความคิดของข้าพเจ้าคิดว่าการเข้าสู่ขั้นนี้เป็นเรื่องที่ยากในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของสังคมเมือง แต่หากว่าคนใดที่มีความตั้งใจหรือมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะทำให้สังคมนั้นน่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในระดับใด พนักงาน, ผู้บริหารระดับกลาง, ผู้บริหารระดับสูง, ข้าราชการ, นักการเมือง เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น: