บทความอันนี้... มีคนส่งมาให้...(ที่มาคนเขียนจริงๆ ผมไม่ทราบ)
ซึ่งผมว่าเข้าใจง่ายและอ่านสนุก
จึงขอยกมาให้อ่านนะครับ...
สรุป : Brexit คืออะไร
1. Brexit มาจากการรวมคำว่า British + Exit คือการประชามติออกจากการเป็นสมาชิกภาพสหภาพยุโรป
2. ต้องเข้าใจก่อนว่าสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) คือความเป็นประชาคมทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่ยังมีสาระสำคัญบางเรื่องที่สมาชิกจะ "เป็น หรือไม่เป็น" ก็ได้
3. สมาชิกที่ใช้ค่าเงินยูโร เราเรียกว่ากลุ่มยูโรโซน (Euro Zone) บางประเทศที่เป็นสมาชิก EU สามารถจะใช้สกุลยูโรก็ได้ หรือใช้ค่าเงินเดิมของตนก็ได้ เช่นอังกฤษใช้เงินปอนด์ สวีเดนใช้เงินโครนา ฯลฯ
4. นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเชงเก้นด้วย (Schengen Area) เป็นต้นว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิก EU ก็ได้ แต่สามารถเข้าร่วมกลุ่มนี้ได้ เช่น สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์ ฯลฯ ไม่ได้เป็นสมาชิก EU ไม่ได้ใช้เงินยูโร แต่เข้าร่วมกลุ่มเชงเก้น
5. กลุ่มเชงเก้นข้อดีของมันคือเมื่อเราไปเที่ยวยุโรป การมีวีซ่าเชงเก้น ทำให้เราสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบาย เที่ยวรอบยุโรปในวีซ่าเดียว
6. ฟังแล้วอาจจะสับสน แต่อย่างที่ว่าไป อังกฤษเป็นสมาชิก EU แต่ไม่ใช้เงินยูโร และไม่ได้ร่วมกลุ่มเชงเก้น , สวิตเซอร์แลนด์ ไม่ได้เป็นสมาชิก EU ไม่ได้ใช้เงินยูโร แต่ร่วมกลุ่มเชงเก้น ตรงนี้ต้องค่อยๆทำความเข้าใจ
7. ในหลักการของ EU ในทางทฤษฎีคือมันเป็น Single Market อารมณ์เหมือนเป็นสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐเช่น เท็กซัส, โอเรกอน, แคลิฟอร์เนีย รัฐแต่ละรัฐมีกฎหมาย มีภาษี แตกต่างกัน เสมือนแตกต่างประเทศกัน แต่อยู่ในระบอบการปกครองเดียวกัน มีประธานาธิบดีคนเดียว ใช้เงินสกุลเดียว ส่วน EU ก็ดูเหมือนอยากจะทำแบบนั้น คือเป็นตลาดเดียว สกุลเงินเดียว แต่ละประเทศมารวมกลุ่มกัน
8. Four-Freedom คือสิ่งที่สหภาพยุโรปกำลังทำให้เกิดขึ้นในความเป็นสมาชิกประชาคม นั่นคือ สินค้า, บริการ, แรงงาน และเงินทุน นั่นแปลว่าในชาติสมาชิก ฉันเป็นคนเยอรมนี ฉันไปทำงานที่ฝรั่งเศสก็ได้ง่ายๆ หรือจะเดินทาง ซื้อขายสินค้ากัน สะดวกสบายมาก เพราะมันเกิดการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี 4 อย่างที่ว่าไป
9. ทีนี้ไอ้เรื่องนี้แหละที่มันเป็นปัญหาคาราคาซัง เป็นต้นว่าไอเดียมันดูเวิร์ค แต่ในความเป็นจริงมันไม่เวิร์ค แต่ละประเทศก็บริหารกันแตกต่าง แต่ละประเทศมีประธานาธิบดี มีนายก มีกษัตริย์ ไม่เหมือนสหรัฐที่มีเพียงโอบามา ที่เป็นประธานาธิบดี
10. นอกจากนี้ในเรื่องของการใช้เงินยูโรให้เป็นสกุลเดียวมันคือทฤษฎีด้าน Price-Stability คือความเสมอภาคด้านราคา สินค้า การบริการ ภายใต้สกุลเงินเดียว แต่มันไม่เวิร์คเพราะ แต่ละประเทศมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน เดิมก่อนรวมสกุลเงินยูโร กรีซเป็นประเทศหนึ่งที่มีค่าครองชีพต่ำในยุโรป หลังจากรวมกันปุ๊บ ทุกอย่างแพงขึ้นแทบทั้งหมด
11. ที่ว่าไป 10 ข้อคือการพูดในภาพรวมๆ แต่ในความเป็นจริงยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก เช่น สภายุโรป เขาก็มีนะ แต่ก็มีหน้าที่ออกกฎหมายให้เป็นหนึ่งในความเป็นยุโรปและทุกประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎหมายชนิดเดียวกัน หรือแม้แต่ ECB ที่เป็นธนาคารกลางยุโรป นอกจากแต่ละประเทศมีธนาคารกลาง ยุโรปก็มีธนาคารกลางด้วย
12. ในช่วงการรวมชาติแรกๆมันก็ดีอยู่หรอก ค่าเงินถูกเซ็ทให้เริ่มต้นเทียบเท่าดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้นค่าเงินยูโรก็แข็งค่าขึ้นมาโดยตลอด เศรษฐกิจแข็งแกร่ง มีการเติบโต ทุกอย่างแลดูเหมือนมันเวิร์ค
14. จนกระทั่งหลังปี 2008 เมื่อวิกฤตการณ์การเงินสหรัฐระเบิดสนั่นโลก ฟองสบู่อสังหาแตกกระจาย พร้อมด้วยฟองสบู่ทั้งหลายระเบิดออก วิกฤตก็กระจายไปทั่วโลก ภาคอสังหาในยุโรปย่อยยับ ภาคธนาคารเจอหนี้เสียปริมาณมหาศาล แม้กระทั่งดูไบ เมืองมหาเศรษฐีก็ยังเจอวิกฤตการเงินและอสังหาริมทรัพย์แตก
15. หลังจากนั้นประเทศต่างๆในยุโรปก็เกิดปัญหาถังแตก นำโดยกรีซ ซึ่งเป็นชาติที่มีข้อเรียกร้องเยอะมาก ต้องการเงินช่วยเหลือหลายครั้ง วิกฤตกรีซสร้างความแตกแยกในชาวยุโรปอย่างมาก ให้เงินช่วยแล้วช่วยเล่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนกรีซก็ยังไม่มีทางรอด
16. หลังจากกรีซก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่ม PIIGS อันได้แก่ โปรตุเกส ไอร์แลนด์ อิตาลี กรีซ และสเปน แต่ละประเทศเผชิญปัญหาคล้ายกัน หนี้เสียพุ่งมาก หนี้ต่อ GDP มหาศาล ความเชื่อมั่นหดหาย นับตั้งแต่นั้น "ฝันร้าย" ของยุโรป หลอกหลอนมาโดยตลอด
17. อ่านมาถึงข้อนี้หลายคนอาจจะยังไม่ทันสังเกตว่าไม่มีข้อ 13
18. รัฐสภายุโรปก็ดูงี่เง่าไม่แพ้กัน ระยะหลังๆดูเหมือนชาวยุโรป แม้กระทั่งชาวเยอรมนีเองก็แสดงความไม่พอใจอย่างมากที่เริ่มมี "กฎหมายไร้สาระ" ออกมามากขึ้นจากสภายุโรป เช่น กฎหมายควบคุมขนาดของผลแตงกวา (ต้องมีขนาดความสั้น ยาว เส้นรอบวง ที่ครบถ้วน จึงขายได้) , กฎหมายฉลากติดผลิตภัณฑ์แยม รวมถึงอีกหน่อยจะมีข้อบังคับว่าสินค้าที่ผลิตใน EU ต้องเขียนว่า Made in EU เท่านั้น อย่างรถ BMW อีกหน่อยจะต้องเขียนว่า Made in EU ไม่ใช่ Made in Germany แล้วนะ กฎหมายไร้สาระเหล่านี้ทำให้ประชาชนหลายฝ่ายไม่พอใจมาก เพราะมันเข้มงวดเกินไป และหลายๆอย่าง (เช่นขนาดของผลแตงกวา) มันไม่ได้มีความจำเป็นหรือสำคัญใดๆต่อชีวิต (จะขายเป็นลูกทำไม ก็ชั่งกิโลเอาสิฟะ)
19. จุดเริ่มต้นของ Brexit ของเรื่องนี้อยู่ที่เมื่อพรรคอนุรักษ์ของนาย David Cameron บอกว่าหากได้เป็นเสียงข้างมากของสภา เขาคิดว่าจะเจรจาต่อรองกับ EU มากขึ้น หลังจากนั้นเมื่อช่วงต้นปี Cameron เจรจากับ EU และเขากล่าวว่าหากอังกฤษจะอยู่ใน EU ต่อ ก็จะได้สถานะพิเศษในสมาชิกภาพ และเงื่อนไขสิทธิพิเศษบางประการ
20. หลักๆของข้อเสนอพิเศษคราวนั้นมีหลายอย่าง ตั้งแต่สวัสดิภาพทั่วไป และยังรวมไปถึงอังกฤษย้ำว่า เราจะไม่เข้าไปร่วมใช้เงินยูโรหรอกนะ เราจะใช้เงินปอนด์อันน่าภาคภูมิใจของเรา ทั้งยังรวมไปถึงการสร้าง "เกราะกำบัง" ให้กับลอนดอน ซึ่งปัจจุบันลอนดอนเป็น Financial Centre อันดับสองของโลก (รองจากนิวยอร์ค) ยังย้ำด้วยว่าลอนดอนจะต้องไม่ไปอยู่ในเงื่อนไขหรือการควบคุมอะไรบางอย่างที่จะลดความสำคัญของลอนดอนลง
21. แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่เชียร์ให้ออก เพราะล่าสุดปัญหาอย่างผู้ลี้ภัย, การเข้ามาแย่งงานจากชาวต่างประเทศ และอีกหลายปัจจัย ทำให้อังกฤษดูแย่ลง เศรษฐกิจไม่เติบโต และปัญหาอาชญากรรมที่พุ่งสูงขึ้น
22. งบประมาณ และเงินช่วยเหลือจำนวนมาก ที่ช่วยเหลือในขณะที่วิกฤตยูโรโซนเกิดขึ้น อังกฤษเองก็เป็นผู้ใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือ และแต่ละปีต้องเสียงบประมาณจำนวนมากเข้าไปให้ยูโรโซน ทำให้เรื่องนี้ชาวอังกฤษไม่น้อยทีเดียวก็ไม่พอใจกับเรื่องดังกล่าว
23. แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้จบแค่ประชามติหรอกนะ ยังต้องไปผ่านสภากันอีก และอาจจะต้องใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปี นอกจากนี้ อังกฤษยังต้องไปเจรจากับประเทศกลุ่ม EU กว่า 27 ประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิพิเศษทางการค้า เพราะเดิมได้สิทธิ์อยู่แล้วไงเนื่องจากเป็นสมาชิก ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิก ก็ต้องไปนับหนึ่งกับประเทศต่างๆใหม่
24. เดิมทีคะแนนความนิยมในการ "ออก" จาก EU ถือว่ามีอยู่ต่ำมาก เมื่อไม่กี่เดือนก่อนมีคะแนนความนิยมออกแค่ 5-10% เท่านั้นเอง ในช่วงล่าสุดพุ่งไปกว่า 55% สะท้อนความนิยมโหวตออก มีสูงขึ้น และกลุ่มผู้ที่จะโหวตออก ก็ยัง "ตื่นตัว" ในการไปลงคะแนนเสียงมากกว่าคนที่จะโหวตอยู่อีกด้วย
25. เมื่อผลโพลล์มันออกมาขนาดนี้ ตลาดหุ้นทั้งยุโรปอังกฤษ และหลายตลาดใหญ่ทั่วโลกก็ร่วงเละ หุ้นยุโรปดัชนีปรับตัวลดลงกว่า -8% ภายใน 1 สัปดาห์ ค่าเงินปอนด์ก็ร่วงกระจุย สะท้อนความกังวลดังกล่าว
26. แต่อย่างไรก็ดีอย่าพึ่งคิดว่านี่คือจุดสิ้นสุดของโลก แม้ว่าโพลล์จะออกมาเป็นแบบนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นแบบนั้นไปจริงๆ อย่างในช่วงที่มีประชามติเมื่อไม่กี่ปีก่อน ที่สกอตแลนด์จะโหวตว่าจะอยู่ หรือออกจากใต้ร่มเงา สหราชอาณาจักร ผลโพลล์ "ออก" ก็นำหน้าจนกระทั่งเมื่อประชามติจริงๆ กลับกลายเป็น "อยู่" ยังชนะ
27. แต่ถ้าสมมติว่าจะต้องออกจริงๆ ยังไงก็ตามอังกฤษก็ยังเป็นประเทศใหญ่ที่ทรงอำนาจและอิทธิพล รวมถึงมีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่ชาติต่างๆก็พร้อมที่จะเจรจาด้วย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเอง และผสานผลประโยชน์ร่วมกัน
28. ผลระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นหากโหวต "ออก" ขึ้นมาจริงๆ คือ ค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่า หุ้นน่าจะร่วงกระจุยทั้งอังกฤษ และยุโรป รวมถึงทั้งโลก นอกจากนี้ ผู้ว่าแบงค์ชาติสหรัฐเมื่อคืนก็ยังคงกล่าวกังวลว่า Brexit อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง ส่วนผู้ว่าอังกฤษกล่าวว่า Brexit จะมีผลกับระบบการเงินโลกเลยทีเดียว
29. สถาบันการเงินหลายแห่งสั่งให้พนักงานและฝ่ายบริหารจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ต้องทำงานกันข้ามวันข้ามคืน ครั้งนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนเฝ้าจับตาและอยู่กับตลาดอย่างใกล้ชิดมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
+++++++++
ปล.อ่านมาจนจบ...อันนี้ผมสงสัยเอง
ทำไมเขาต้องมาให้ลงประชามติช่วงบอลยูโรด้วยนะ??
ผมว่างานนี้คนคงมาลงคะแนนกันน้อยแน่นอน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น