2551/12/30

พาเที่ยว ราชบุรี (2) น้ำพุร้อน บ่อคลึง


และก็ถึงยังจุดหมาย ธารน้ำพุร้อนบ่อคลึง ขับรถจาก อ.สวนผึ้ง ไปทางน้ำตกเก้าโจน 16 กม. ลักษณะเป็นลำธารน้ำร้อนเล็กๆ จากเทือกเขาตะนาวศรี มีน้ำไหลซึมออกมาจากตาน้ำใต้ดินไม่ขาดสาย ซึ่งมีก้อนหินใหญ่เล็กเรียงรายตามร่องน้ำตลอดทางประมาณ 300 เมตร สองฝั่งลำธารแวดล้อมด้วยพืชพรรณไม้จากธรรมชาติ การไหลรินของน้ำมีตลอดทั้งปี แม้ในฤดูแล้งปริมาณน้ำไหลจะน้อยลงบ้างไม่ถึงกับแห้ง ที่จุดต้นน้ำซึ่งเป็นตาน้ำผุดออกมาจากใต้ดินนั้นเป็นจุดที่มีอุณหภูมิสูงสุด ความร้อนประมาณ 120-136 องศาฟาเรนไฮต์ สถานที่แห่งนี้พบโดยเอกชนขณะกำลังขุดเหมืองแร่ ในช่วงปี พ.ศ.2468 และทำการปรับปรุงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวต่อมาจนทุกวันนี้ การจัดการเป็นแบบเรียบง่าย มีค่าเข้าพื้นที่คนละ 5 บาท แล้วเดินเข้าไปอีกหน่อยด้านขวามือจะมีป้ายเขียนว่าพื้นที่ให้กางเต็นท์ และตรงไปอีกนิดก็เป็นจุดที่ลงไปอาบน้ำแร่ได้ ซึ่งบ่อน้ำแร่นี้มีให้เลือก 2 แบบ
คือ กลางแจ้ง เป็นแบบบ่อดิน เปิดโล่งเป็นธรรมชาติ กับ แบบสระปูกระเบื้อง ซึ่งจะอยู่ภายในอีกทีหนึ่ง ป่าป๊าเลือกบ่อดินเพราะดูเป็นธรรมชาติ และราคาถูกกว่า (ผู้ใหญ่คนละ 30 บาท ของหนูฟรีค่ะ) แบบปูกระเบื้องคนละ 50 บาท การแต่งกายก็เป็นเสื้อยืดกางเกงขาสั้น หรือกางเกงวอร์มก็สามารถลงไปแช่น้ำร้อนได้อย่างสบายใจ น้ำในบ่อไม่ลึกมากประมาณเอวผู้ใหญ่ แต่สำหรับหนูยืนแล้วจมแน่ๆ เลยต้องเกาะคนโน้นที คนนั้นที อากาศเย็นๆ ได้อาบน้ำแร่อุ่นๆ แบบนี้ มีความสุขอย่าบอกใคร สมมุติว่าได้ไปอาบน้ำร้อนที่ญี่ปุ่น (ฮอนเซ็น) โดยไม่ต้องเสียตังค์แพงๆ ไงละ


น้ำในบ่อข้างนอก อุ่นกำลังดี มีท่อต่อจากต้นน้ำบนภูเขาลงมาที่บ่ออีกที และน้ำจะไหลเวียนออกไปตลอดเวลา หนูสงสัยว่าน้ำแร่ธรรมชาติจะมีวันหมดไปมั๊ย ถ้าหมดแล้วเขาจะเอาน้ำมาต้มให้ร้อน ทำเป็นน้ำแร่ให้นักท่องเที่ยวมาอาบต่อไป หรือเปล่านะ? (ฮ่า ฮ่า)
ในที่สุดหนูก็ต้องกล่าวคำอำลา จ.ราชบุรี เป็น 2 วัน 1 คืน ที่มีความสุขในครอบครัว เราอาจจะเถียงกันบ้าง บ่นกันบ้าง หรือหงุดหงิดใส่กันบ้างในตอนอยู่บ้าน แต่เมื่อนึกถึงรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความทรงจำดีๆ ที่ได้มาทำบุญไหว้พระ ขอพรร่วมกัน ก็เป็นเหมือนการเพิ่มพลังแห่งความรักในครอบครัว ขอบคุณพระเป็นเจ้าสำหรับการเดินทางที่ปลอดภัย ขอบคุณสำหรับพระพรต่างๆ ที่หนูได้รับทุกครั้งที่วอนขอ และขอบคุณที่ให้หนูได้เกิดมาเพื่อสัมผัส ความสวยงามจากสิ่งสร้างบนโลกใบนี้

ปล.พบกันใหม่กับทัวร์ครั้งหน้าเร็วๆ ตามคำสโลแกน เที่ยวไทยครื้นเครง เศรษฐกิจไทยคึกคักค่า.. หนูเอย

2551/12/25

แผนที่วัดคาทอลิก ใน จ.ราชบุรี (ปรับปรุงครั้งที่ 1)

การทำแผนที่ใน maps google เป็นความตั้งใจที่อยากจะให้ผู้ที่ไปแสวงบุญตามที่ต่างๆ มีโอกาสได้เห็นแผนที่ชัดเจน ก่อนที่จะเดินทางจริง แต่เป็นการทำแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย ไปทีละวัด ทีละแห่ง สามารถเข้าชมได้ที่
http://maps.google.com/maps/ms?msa=0&msid=102815591993632318413.00045d3a91667beb8b431&ie=UTF8&ll=13.5926,99.640503&spn=1.353477,2.460938&z=9

2551/12/23

ป่าป๊า พาเที่ยวราชบุรี ตอนที่ 1
























ดีใจจัง วันหยุดสุดสัปดาห์นี้หนูจะได้ไปเที่ยวที่ราชบุรี ตอนแรกแม่บอกว่าจะพาหนูไปงานแต่งงานที่นั่น แบบไปเช้าเย็นกลับ แต่ป่าป๊าอยากพาหนูเที่ยว (หรืออยากเที่ยวเองก็ไม่รู้) เลยจัดมินิทัวร์แสวงบุญควบคู่กับการไปพักผ่อนที่ราชบุรี 2 วัน 1 คืน





วัดแรกของราชบุรีที่หนูได้ไปเยือน คือ รองอาสนวิหารนักบุญยอห์น บอสโก ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงเรียนดรุณา ราชบุรี มองจากภายนอกดูสวยสง่า แข็งแรง มีบันไดสูงหลายสิบขั้นทอดยาว จากทางด้านปีกซ้าย ปีกขวา และด้านหน้าของวัด กว่าจะขึ้นไปถึงตัววัดได้ หนูก็เสียเหงื่อไปหลายหยดเหมือนกัน แต่ก็นับว่าคุ้มเพราะพอมาถึงลานหน้าวัดได้นั่งพัก มองดูวิวจากด้านบน ก็ทำให้หายเหนื่อย รอบๆบริเวณที่นั่ง มีไม้ใหญ่ เช่น ต้นลีลาวดี ปลูกให้ความร่มรื่น สบายตา ภายในวัดก็เย็นสบาย เพราด้านข้างของวัด เป็นประตูเปิดโล่งตลอด มีระเบียงทั้งด้านซ้าย และด้านขวา อีกอย่างที่หนูชอบมากคือ กระจกสีรูปพระ และนักบุญต่างๆ ตรงผนังด้านบนของวัด เวลาแสงอาทิตย์ส่องมากระทบยิ่งดูสวยจนหนูเดินมองเพลินเลยทีเดียว (อยากมาดูของจริงต้องมาที่วัดเองค่า)
แต่หนูถ่ายภาพของศิลาฤกษ์มาให้ชมด้วย







เสกศิลาฤกษ์ วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1985 โดยพระสังฆราชยอแซฟ เอก ทับปิง
วางศิลาฤกษ์ วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1988 โดยพระสังฆราช ยอห์น บอสโก มนัส จวบสมัย โอกาสระลึกศตวรรษสมโภช 100 ปี มรณภาพพ่อบอสโก
เสกวัดใหม่ วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1990 โดยโดยพระสังฆราช ยอห์น บอสโก มนัส จวบสมัย






ตอนบ่ายหลังจากเก็บของล้างหน้า ล้างตาที่บ้านพัก แบบโฮมเตย์ ใน อ.เมือง จ.ราชบุรี แล้วเราก็มุ่งหน้าสู่วัดที่สอง คือ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ อ.โพธาราม ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีบุญได้ไปหา นักบุญเปาโลซะแล้ว เพราะป่าป๊าป้ำเป๋อ ลืมแผนที่ไว้ที่กรุงเทพฯ ต้องโทรศัพท์ถามจากคนที่บ้าน แต่ก็ยังขับวนไปวนมาอยู่แถวนั้น หาไม่เจอซักที ทั้งๆ ก็วิ่งอยู่บนหน้าถนนโรงพยาบาล-บ้านฆ้อง และพยายามมองหาหาวัด กับป้ายชื่อวัดตามเส้นทางนั้น แต่แล้วก็หาไม่พบ จนต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บริเวณหน้าสถานีรถไฟโพธาราม ให้ช่วยนำทางให้








จากที่หลงอยู่ เป็นหลายนาที ก็แป๊ปเดียวสามารถถึงที่หมายได้ ซึ่งปัจจุบันนี้วัดอยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามของโรงเรียนโพธาพัฒนาเสนี คือ ซอยที่ 8 หมู่ที่ 8 ถ.โรงพยาบาล-บ้านฆ้อง ต.คลองตาคด และหน้าปากซอยมีบ้าน และตึกแถว สร้างขึ้นมาบนริมถนนแล้วทำให้การมองจากถนน นั้นมองไม่เห็นวัดนักบุญเปาโล ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ภายนอกดูคล้ายบ้านพักอาศัย มีชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัด ตรงรั้วด้านข้างวัดที่ติดกับซอย มีรูปปั้นแม่พระ และนักบุญเปาโล ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้าไปไหว้ และ ถวายดอกไม้ได้ ตอนที่หนูไปนี้ไม่ได้เข้าไปภายในวัด เนื่องจากวัดปิดและไม่มีผู้ดูแลอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นวัดที่น่ารักอีกแห่งหนึ่งในเมืองราชบุรี ที่คอยให้บริการกับชุมชนโพธารามแห่งนี้ จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน มาฉลองปิดปีนักบุญเปาโลที่วัดแห่งนี้กันนะค่ะ.. เพราะก็ไม่ไกล ไม่ใกล้จากเมืองกรุง




เช้าวันอาทิตย์ หลังจากอาบน้ำ ล้างหน้า (แม่ทำให้) กินอาหารเช้า (อันนี้หนูทำเองได้) แล้ว เราก็ออกเดินทางสู่วัดที่สาม คือ วัดแม่พระฟาติมา ห้วยคลุม อ.สวนผึ้ง วัดนี้เรียกได้ว่าอยู่บนภูเขาเลยทีเดียว เลี้ยวจากถนนสายหลักปากทางที่จะเข้าโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา วิ่งเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้ายบอกทางขึ้นไปบริเวณวัดแม่พระฟาติมา ธรรมชาติสองข้างทางสวยมาก หนูเพิ่งเคยเห็นภูเขาใกล้ๆ อย่างนี้เป็นครั้งแรก เลยตื่นตาตื่นใจ วัดนี้เป็นวัดขนาดกลาง สร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหอระฆังด้วย พวกเราที่ไปได้มีโอกาสเจอคุณพ่อเจ้าวัด ซึ่งท่านก็เล่าว่า สัตบุรุษที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปากะญอ อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณวัด บางคนก็อยู่ใกล้ บางคนก็อยู่ไกล บางคนอุ้มลูก จูงหลาน เดินทางมาหลายกิโลเมตรเหมือนกัน มิสซาทุกวันอาทิตย์ เวลา 9.00 น.

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านซึ่งคุณพ่อซาวีโอ (มนตรี) จูสวย สงฆ์ไทยอาวุโสได้เคยมาทำงานแพร่ธรรมอยู่ก่อนแล้ว หลายปี คุณพ่อซาวีโอเป็นที่รักของชาวปากะญอเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกำนันละเอิง บุญเลิศ คุณพ่อเข้า - ออกที่นั้นเป็นประจำทุกอาทิตย์ โดยพักอาศัย กินอยู่ และหลับนอนที่บ้านของกำนันผู้นี้ ในที่สุดคุณพ่อก็ได้ซื้อที่ดิน 1 แปลง มีเนื้อที่ 1 ไร่ ในหมู่บ้านนี้ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของคุณพ่อเอง และได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ 1 หลัง เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่พัก ชั้นล่างปล่อยโล่ง ๆ

เมื่อปี ค.ศ.1982 คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ ได้ไปช่วยงานสังฆมณฑลเชียงใหม่ ตามโครงการมิสซังพี่ – มิสซังน้อง เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย เชียงใหม่ ครบวาระ 6 ปี จึงได้ย้ายกลับมาสังฆมณฑลราชบุรี และเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรเล็กราชบุรี คุณพ่อเคยมีความสนใจในงานแพร่ธรรมกับคนต่างศาสนาโดยตรง จึงได้เข้ามาสำรวจว่ามีมีครอบครัวคริสตังค์อยู่จำนวนเท่าไร หลังจากนั้น คุณพ่อจึงได้นัดพบกัน เพื่อทำมิสซาเดือนละครั้งในวันเสาร์ต้นเดือน โดยมิสซาจะเป็นภาษาไทย แต่จะเทศน์และขับร้องเป็นภาษาปากะญออาศัยกลุ่มเณรปากะญอเป็นผู้ช่วย มีคนมาร่วมมิสซาด้วยประมาณ 30 - 40 คน เป็นกะเหรี่ยงล้วน ๆ
ปี 1986 ได้ขอครูสอนคำสอนชาวกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ 1 คนมาอยู่ประจำ เพื่อสอนคำสอน สอนสวดบทสวด สอนขับร้องเป็นภาษาปากะญอให้แก่ผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากมักจะพูดไทยไม่ได้ และในปีนี้เองได้เริ่มส่งเด็กๆ ปากะญอมาเรียนคำสอนภาคฤดูร้อนที่ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด พูดไทยคล่องขึ้นและมีความกล้าขึ้นอีกด้วย นอกนั้นทางวัดยังได้จัดรถพาคริสตังค์กลุ่มนี้ออกไปร่วมฉลองในโอกาสต่าง ๆ ของสังฆมณฑลด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นการเปิดหูเปิดตาให้รู้จักศาสนจักรคาทอลิกมากขึ้น พวกเขาจะได้เกิดความเชื่อ ความศรัทธามากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1987 ได้เริ่มลงรากสร้างวัดใหม่ถวายแด่แม่พระฟาติมา บนเนินสูงเหนือหมู่บ้าน เป็นวัดเล็ก ๆ ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 21 เมตร สามารถบรรจุคนได้ 100 คน ด้านหลังวัดทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่พักพระสงฆ์ วัดหลังนี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 3 ปี จึงจะเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุขัดข้องทางด้านการเงินและคนก่อสร้าง ซึ่งต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึง 4 ชุด ระยะทางก็อยู่ห่างไกล กันดาร การขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างก็ลำบาก รถติดทราย ติดหล่มเป็นประจำ ซ้ำคนงานยังป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันบ่อย ๆ อีกด้วย



ที่สุดวัดแม่พระฟาติมา ห้วยคลุม ก็สำเร็จลงและได้รับการเสกโดย พระสังฆราช มนัส จวบสมัย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1992 นอกจากตัววัดและหอระฆังแล้ว ก็ยังมีบ้านพักพระสงฆ์ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้อีก 1 หลัง พร้อมศาลาอเนกประสงค์ซึ่งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีร่วมใจสร้างให้อีก 1 หลังด้วย



อู้หู.. ความลำบากเมื่อ 20 กว่าปีก่อนกว่าจะได้วัดหลังนี้มา ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้มีวัดและชุมชนที่น่ารักอีกแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะอยู่หากไกลจากตัวเมือง แต่ผู้คนที่นี้ยังสะอาดบริสุทธิ์ ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีน้ำใจไมตรี มีคุณลุงคนหนึ่งชวนแม่ให้พาหนูเดินลงเขาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทางด้านล่างของวัด แม่มองทางลงก็ได้แต่ยิ้มกับคุณลุง ก็แหม ตอนขาลงนะไม่เท่าไรหรอก แต่ตอนขาขึ้นี่สิ แม่คงไม่อยากเข็นครก เอ๊ย เข็นหนูขึ้นภูเขา
ด้านข้างของวัดมีศาลาเล็กๆ ให้นั่งชมวิวด้วย มองออกไปเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน มีบ้านคนอยู่ประปราย พื้นที่บางส่วนก็ถูกถางทำเป็นแปลงปลูกพืชดูเป็นระเบียบ ตัดกับภาพป่าไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ยิ่งอากาศเย็นๆ ช่วงเดือนธันวา ทำให้หนูรู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวเมืองนอกเลย (จริงๆ ก็ไม่เคยไปหรอก เห็นแต่ในโทรทัศน์) พักผ่อนสูดอากาศ ชาร์ตพลัง จนเต็มปอด เราก็ขอลาคุณพ่อ และลุงๆ ป้าๆ ชาวปะกาญอ เพื่อเดินทางต่อ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

2551/12/15

คุณสมบัติผู้นำ ตามแบบอย่างของท่านพระธรรมปิฎก

คุณสมบัติของผู้นำ ตามข้อเขียนของท่านพระธรรมมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) มีดังนี้

ก. ตนเองต้องเป็นคนดีและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ โดยทำตัวเป็นแบบอย่าง มีความรู้ ความสามารถ หรือจูงใจให้สมาชิกทำตามที่ต้องการได้ คุณสมบัติประการสำคัญในข้อนี้ มักจะอ้างอิงถึงหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการคือ
1. ธัมมัญญุตา (Knowing the Law, Knowing the Cause) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ รู้ความจริง รู้หลักการ รู้กฎเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมได้ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้จักหลักการที่จะทำ ให้เกิดผล รวมความว่า การบริหารจัดการในองค์กร ผู้บริหารจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รู้จักการวิเคราะห์ความจริงที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติ อันว่า “ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เป็นธรรมดา “ โดยพิจารณาหลักการและเกณฑ์แห่งเหตุผลมาบริหารจัดการองค์กร

2. อัตถัญญุตา (Knowing the Meaning, Knowing the Purpose) ความเป็นผู้รู้จักผล หรือความมุ่งหมาย คือรู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้จักผลที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากการกระทำตามหลัก หมายถึง การบริหารงานองค์กรให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ และรู้ถึงประโยชน์ของ องค์กรที่นำไปสู่ความมั่นคง และไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อองค์กร ในที่นี้ก็หมายถึงการมีแผนงานที่ดี การวางแผนที่วิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ

3. อัตตัญญุตา (Knowing Oneself) ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักเราว่าเรานั้น โดยฐานะภาวะเพศ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมเป็นอย่างไร และเท่าใด แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้จักที่จะปรับปรุงต่อไป ในที่นี้หมายถึง รู้จักองค์กรที่เราบริหารเป็นอย่างดีว่ามีจุดด้อย จุดแข็งอย่างไร มีขีดความสามารถอย่างไร และรู้จักการปรับปรุงองค์กรให้ทันต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบ รวมทั้งการบริหาร ความแตกต่างที่จะทำให้องค์กรเป็นเลิศ มีประสิทธิภาพ และมั่นคงถาวร

4. มัตตัญญุตา (Moderation, Knowing how to be temperate) ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดีในการใช้จ่าย ในที่นี้หมายถึงการบริหารการเงิน หรือการขยายกิจการ ต้องพิจารณาให้รู้จักประมาณในความสามารถขององค์กร ขีดความสามารถขององค์กร ขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร รวมทั้งการแข่งขั้นที่รอบคอบและรู้จักประมาณขีดความสามารถขององค์กร

5. กาลัญญุตา (Knowing the Propertime) ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้กาลเวลา อันเหมาะสม และระยะเวลาในการประกอบกิจ ในที่นี้หมายถึง การบริหารจัดการ จะต้องมีความเข้าใจถึงระยะเวลาที่เหมาะสม การสร้างโอกาสขององค์กรจะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ ว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร อะไรควรงด อะไรควรกระทำ เวลาใดควรขยายกิจการ หรือช่วงเวลาใดที่จะบริหารองค์กรให้ประสบผลสำเร็จต่อองค์กรมากที่สุด

6. ปริสัญญุตา (Knowing the Assembly, Knowing the Society) ความเป็นผู้รู้จัก ชุมชน คือ รู้กริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร การบริหารจัดการ จำเป็นต้อง ปฏิสัมพันธ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพันธมิตร และคู่แข่ง การสร้างสรร หรือการประสานงานกับชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่มีผลต่อองค์กร ก็คือเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เป็นการบริหารจัดการที่สร้างความสัมพันธ์ด้วยเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชุมชน หรือสาธารณะชน จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร

7. ปุคคลัญญุตา (Knowing the individual, Knowing the different individuals) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักความแตกต่างของบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม ตลอดถึงรู้ในความสามารถของบุคคล และใช้มอบงานที่เหมาะสมให้การบริหารจัดการในการรู้บุคคล เปรียบเสมือนการพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องมีการพัฒนา และบริหารบุคคลในองค์กรให้มีความรู้ความสามารถ และภักดีต่อองค์กร มีความสามัคคี สร้างความเป็นธรรม และเสมอภาคให้แก่ บุคลากรในองค์กร รวมถึงการทำงานเป็นหมู่คณะ การติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ด้วยความเป็นมิตรไมตรี รวมทั้งมีความจริงใจต่อกัน

ข. มีกัลยาณมิตร มีที่ปรึกษาที่ดี ทั้งนี้ เพราะผู้นำต้องนำบุคคลอื่น ผู้นำไม่สามารถทำอะไรโดยลำพังคนเดียว จึงต้องมีผู้ร่วมงานหรือมีทีมงานที่ดี มีความรู้ความสามารถ และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นอยู่เสมอ ตลอดจนก็ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ

ค. ต้องมองกว้างไกล ไม่ได้มองแต่เพียงในองค์กรหรือในชุมชนและสังคม ของตนเอง แต่มองให้ครบถ้วน มองหาสาเหตุและปัจจัยที่จะกระทบกับองค์กร ชุมชนและสังคมของตน องค์กรชุมชนและสังคมควรปฏิบัติอย่างไร รับมืออย่างไร หรือมีวิธีการที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ นั้นอย่างไร พร้อมทั้งมีส่วนร่วมเกื้อหนุนหรือปรับแก้สถานการณ์ไม่ให้ถูกครอบงำ หรือล้าหลังการเปลี่ยนแปลง

ง. คิดไกล คิดในเชิงเหตุปัจจัย ทั้งมองไปข้างหลังและก้าวไปข้างหน้า คือปัจจุบันเป็นตัวตั้ง แล้วใช้ปัญญาสาวไปหาเหตุปัจจัยในอดีต ย้อนตามไปในอนาคตให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้เพราะเหตุไร เป็นมาอย่างไร แล้วก็มองไปในอนาคตว่าจะมีผลเป็นอย่างไรสามารถวางแผนเตรียมการเพื่ออนาคตให้บรรลุจุหมาย จ. ใฝ่สูง คือใฝ่ปรารถนาจุดหมายที่สูงส่ง คือความดีความงามของชีวิต ความดีความงามของสังคม ความเจริญก้าวหน้า มีสันติสุขของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มัวปรารถนาหรือใฝ่ในลาภยศสรรเสริญเยินยอ หรือประโยชน์ส่วนตน

2551/12/10

บทบาทของผู้นำกับการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กร



ย้อนหลังไปเมื่อ 20 ปีก่อน ร้านขายวัสดุก่อสร้างประเภท 3 ที่เน้นขายพวกเครื่องสุขภัณฑ์ และกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ยังเป็นร้านค้าแบบดั้งเดิม ที่มีกองทราย กองกระเบื้องวางเกะกะอยู่เต็มร้าน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเลือกซื้อสินค้าได้มากนัก และไม่มีความสะดวกสบายเท่าไร ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มช่าง ผู้รับเหมา ที่จะเข้ามาติดต่อซื้อขาย ไม่มีกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคสุดท้าย (End User)

ผู้นำของร้านค้าแห่งนี้ หรือเรียกกันในสมัยนั้นว่า “เถ้าแก่” ได้ปรับเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ด้วยการพัฒนาร้านค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม เริ่มตั้งแต่ปรับบริเวณด้านหน้าของร้านค้าให้สะอาดเรียบร้อย ไม่มีของเกะกะเต็มหน้าร้าน ให้มีตัวอย่างห้องเสมือนจริง (Mock up) ด้วยการติดกระเบื้อง ตั้งวางสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า ในแต่ละห้องให้ลูกค้าได้เข้ามาเลือกสินค้า และเห็นภาพในอนาคตได้อย่างชัดเจนว่า ถ้าลูกค้าซื้อสินค้าไปแล้วนำไปติดตั้งตามแบบนี้ ก็จะได้ห้องน้ำที่ตนเองต้องการ และติดตั้งระบบปรับอากาศทั้งร้าน เพื่อให้ลูกค้า หรือผู้ที่ต้องการเข้ามาซื้อสินค้ามีความสะดวกสบายมากขึ้น พร้อมทั้งสอนพนักงานขายให้มีความสนใจลูกค้าที่เดินเข้ามาดูสินค้าอีกด้วย

ในยุคสมัยนั้นการเปลี่ยนแปลงของร้านนี้ ได้รับการพูดถึงหรือกล่าวขานกันในวงการค้าปลีกสมัยนั้น ว่า “ร้านจะไปไหวเหรอ ติดแอร์ ลงทุนไปตั้งมากมาย จะขายได้จริงเหรอ” แต่ผู้นำร้านก็ไม่สนใจและพยายามทำธุรกิจแม้ว่าจะมีปัญหาบ้างแต่ก็แก้ไข และฟันฝ่าอุปสรรค จนทำให้มียอดขายที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด และพร้อมที่จะพัฒนาหรือเพิ่มสาขามากขึ้น โดยการลงทุนเพิ่มกับเพื่อนร่วมรุ่น ซึ่งนับว่าเป็นกัลยาณมิตรของเถ้าแก่มาตั้งแต่สมัยเรียน และเติบโตขึ้นมาก็ได้มีโอกาสทำธุรกิจร่วมกันในการขยายสาขาขึ้นมาอีก 4 สาขา ตามมุมเมืองของกรุงเทพมหานคร เป็นการวางตำแหน่งสาขา เพื่อรองรับการเติบโตของเมือง ที่จะต้องขยายออกไปยังชานเมืองมากขึ้น นับว่าผู้นำในองค์กรนี้มีวิสัยทัศน์ในการเลือกตำแหน่งสาขาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบันนี้บริเวณที่ตั้งของสาขาต่างๆ นั้นประกอบไปด้วย หมู่บ้าน และ ชุมชนใหม่ๆ เกิดขึ้นสร้างความคึกคักและความเจริญขึ้นมาอีกมากมาย
ก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี เป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรทั้งระบบ เปลี่ยนวัฒนธรรมขององค์กร จากเดิมที่ใช้กระดาษ และเครื่องคิดเลข ทำให้ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการประสานงานขาย และสั่งซื้อสินค้า ในช่วงแรกที่นำมาใช้นั้นสร้างความวุ่นวายให้กับคนในองค์กรเป็นอย่างยิ่ง เพราะถือว่าเป็นการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนวิธีการทำงานของพนักงาน อีกทั้งยังต้องพัฒนาพนักงานให้สามารถรับเทคโนโลยีต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการค้าวัสดุก่อสร้างสุขภัณฑ์ กระเบื้อง นี้อีกอันหนึ่งก็คือ การปรับเปลี่ยนระบบการซื้อด้วยเงินเชื่อ มาเป็นการซื้อด้วยเงินสด หรือบัตรเครดิต จากเดิมสัดส่วนเงินเชื่อสูงถึงร้อยละ 80 แล้วก็ปรับลดลงมาเหลือเพียงร้อยละ 30 ในช่วงแรกๆ ซึ่งในตอนแรกที่มีการปรับเปลี่ยนนี้ทำให้ลูกค้าที่เป็นผู้รับเหมา หรือลูกค้าเก่าๆ ได้ต่อว่าและบอกว่าทำถูกหรือ ไม่กลัวลูกค้าหายหรือ?

แต่เวลาก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการทำธุรกิจด้วยเงินสดนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้องและป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น เพราะช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ปี 40 ทางร้านค้าก็ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถชำระเงินได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และทำให้ร้านค้าแห่งนี้สามารถดำเนินธุรกิจได้ตราบจนทุกวันนี้