2551/12/15

คุณสมบัติผู้นำ ตามแบบอย่างของท่านพระธรรมปิฎก

คุณสมบัติของผู้นำ ตามข้อเขียนของท่านพระธรรมมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตโต) มีดังนี้

ก. ตนเองต้องเป็นคนดีและเป็นแบบอย่างที่ดีได้ โดยทำตัวเป็นแบบอย่าง มีความรู้ ความสามารถ หรือจูงใจให้สมาชิกทำตามที่ต้องการได้ คุณสมบัติประการสำคัญในข้อนี้ มักจะอ้างอิงถึงหลักสัปปุริสธรรม 7 ประการคือ
1. ธัมมัญญุตา (Knowing the Law, Knowing the Cause) ความเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ รู้ความจริง รู้หลักการ รู้กฎเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมได้ รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล และรู้จักหลักการที่จะทำ ให้เกิดผล รวมความว่า การบริหารจัดการในองค์กร ผู้บริหารจำเป็นต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอย่างถูกต้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รู้จักการวิเคราะห์ความจริงที่เกิดขึ้น ตามธรรมชาติ อันว่า “ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ดับไป เป็นธรรมดา “ โดยพิจารณาหลักการและเกณฑ์แห่งเหตุผลมาบริหารจัดการองค์กร

2. อัตถัญญุตา (Knowing the Meaning, Knowing the Purpose) ความเป็นผู้รู้จักผล หรือความมุ่งหมาย คือรู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้จักผลที่เกิดขึ้น สืบเนื่องจากการกระทำตามหลัก หมายถึง การบริหารงานองค์กรให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ และรู้ถึงประโยชน์ของ องค์กรที่นำไปสู่ความมั่นคง และไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อองค์กร ในที่นี้ก็หมายถึงการมีแผนงานที่ดี การวางแผนที่วิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ

3. อัตตัญญุตา (Knowing Oneself) ความเป็นผู้รู้จักตน คือ รู้จักเราว่าเรานั้น โดยฐานะภาวะเพศ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรมเป็นอย่างไร และเท่าใด แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้จักที่จะปรับปรุงต่อไป ในที่นี้หมายถึง รู้จักองค์กรที่เราบริหารเป็นอย่างดีว่ามีจุดด้อย จุดแข็งอย่างไร มีขีดความสามารถอย่างไร และรู้จักการปรับปรุงองค์กรให้ทันต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบ รวมทั้งการบริหาร ความแตกต่างที่จะทำให้องค์กรเป็นเลิศ มีประสิทธิภาพ และมั่นคงถาวร

4. มัตตัญญุตา (Moderation, Knowing how to be temperate) ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดีในการใช้จ่าย ในที่นี้หมายถึงการบริหารการเงิน หรือการขยายกิจการ ต้องพิจารณาให้รู้จักประมาณในความสามารถขององค์กร ขีดความสามารถขององค์กร ขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร รวมทั้งการแข่งขั้นที่รอบคอบและรู้จักประมาณขีดความสามารถขององค์กร

5. กาลัญญุตา (Knowing the Propertime) ความเป็นผู้รู้จักกาล คือ รู้กาลเวลา อันเหมาะสม และระยะเวลาในการประกอบกิจ ในที่นี้หมายถึง การบริหารจัดการ จะต้องมีความเข้าใจถึงระยะเวลาที่เหมาะสม การสร้างโอกาสขององค์กรจะต้องพิจารณาถึงสถานการณ์ในเวลานั้น ๆ ว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร อะไรควรงด อะไรควรกระทำ เวลาใดควรขยายกิจการ หรือช่วงเวลาใดที่จะบริหารองค์กรให้ประสบผลสำเร็จต่อองค์กรมากที่สุด

6. ปริสัญญุตา (Knowing the Assembly, Knowing the Society) ความเป็นผู้รู้จัก ชุมชน คือ รู้กริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้น ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร การบริหารจัดการ จำเป็นต้อง ปฏิสัมพันธ์กับองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นพันธมิตร และคู่แข่ง การสร้างสรร หรือการประสานงานกับชุมชน หรือกลุ่มบุคคลที่มีผลต่อองค์กร ก็คือเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนา เป็นการบริหารจัดการที่สร้างความสัมพันธ์ด้วยเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อชุมชน หรือสาธารณะชน จะเป็นภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร

7. ปุคคลัญญุตา (Knowing the individual, Knowing the different individuals) ความเป็นผู้รู้จักบุคคล คือ รู้จักความแตกต่างของบุคคลว่าโดยอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม ตลอดถึงรู้ในความสามารถของบุคคล และใช้มอบงานที่เหมาะสมให้การบริหารจัดการในการรู้บุคคล เปรียบเสมือนการพัฒนาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่จะต้องมีการพัฒนา และบริหารบุคคลในองค์กรให้มีความรู้ความสามารถ และภักดีต่อองค์กร มีความสามัคคี สร้างความเป็นธรรม และเสมอภาคให้แก่ บุคลากรในองค์กร รวมถึงการทำงานเป็นหมู่คณะ การติดต่อสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ด้วยความเป็นมิตรไมตรี รวมทั้งมีความจริงใจต่อกัน

ข. มีกัลยาณมิตร มีที่ปรึกษาที่ดี ทั้งนี้ เพราะผู้นำต้องนำบุคคลอื่น ผู้นำไม่สามารถทำอะไรโดยลำพังคนเดียว จึงต้องมีผู้ร่วมงานหรือมีทีมงานที่ดี มีความรู้ความสามารถ และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นอยู่เสมอ ตลอดจนก็ต้องแสวงหาความรู้อยู่เสมอ

ค. ต้องมองกว้างไกล ไม่ได้มองแต่เพียงในองค์กรหรือในชุมชนและสังคม ของตนเอง แต่มองให้ครบถ้วน มองหาสาเหตุและปัจจัยที่จะกระทบกับองค์กร ชุมชนและสังคมของตน องค์กรชุมชนและสังคมควรปฏิบัติอย่างไร รับมืออย่างไร หรือมีวิธีการที่จะแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ นั้นอย่างไร พร้อมทั้งมีส่วนร่วมเกื้อหนุนหรือปรับแก้สถานการณ์ไม่ให้ถูกครอบงำ หรือล้าหลังการเปลี่ยนแปลง

ง. คิดไกล คิดในเชิงเหตุปัจจัย ทั้งมองไปข้างหลังและก้าวไปข้างหน้า คือปัจจุบันเป็นตัวตั้ง แล้วใช้ปัญญาสาวไปหาเหตุปัจจัยในอดีต ย้อนตามไปในอนาคตให้เห็นว่าเป็นอย่างนี้เพราะเหตุไร เป็นมาอย่างไร แล้วก็มองไปในอนาคตว่าจะมีผลเป็นอย่างไรสามารถวางแผนเตรียมการเพื่ออนาคตให้บรรลุจุหมาย จ. ใฝ่สูง คือใฝ่ปรารถนาจุดหมายที่สูงส่ง คือความดีความงามของชีวิต ความดีความงามของสังคม ความเจริญก้าวหน้า มีสันติสุขของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มัวปรารถนาหรือใฝ่ในลาภยศสรรเสริญเยินยอ หรือประโยชน์ส่วนตน

ไม่มีความคิดเห็น: