2551/12/23

ป่าป๊า พาเที่ยวราชบุรี ตอนที่ 1
























ดีใจจัง วันหยุดสุดสัปดาห์นี้หนูจะได้ไปเที่ยวที่ราชบุรี ตอนแรกแม่บอกว่าจะพาหนูไปงานแต่งงานที่นั่น แบบไปเช้าเย็นกลับ แต่ป่าป๊าอยากพาหนูเที่ยว (หรืออยากเที่ยวเองก็ไม่รู้) เลยจัดมินิทัวร์แสวงบุญควบคู่กับการไปพักผ่อนที่ราชบุรี 2 วัน 1 คืน





วัดแรกของราชบุรีที่หนูได้ไปเยือน คือ รองอาสนวิหารนักบุญยอห์น บอสโก ซึ่งอยู่ในบริเวณโรงเรียนดรุณา ราชบุรี มองจากภายนอกดูสวยสง่า แข็งแรง มีบันไดสูงหลายสิบขั้นทอดยาว จากทางด้านปีกซ้าย ปีกขวา และด้านหน้าของวัด กว่าจะขึ้นไปถึงตัววัดได้ หนูก็เสียเหงื่อไปหลายหยดเหมือนกัน แต่ก็นับว่าคุ้มเพราะพอมาถึงลานหน้าวัดได้นั่งพัก มองดูวิวจากด้านบน ก็ทำให้หายเหนื่อย รอบๆบริเวณที่นั่ง มีไม้ใหญ่ เช่น ต้นลีลาวดี ปลูกให้ความร่มรื่น สบายตา ภายในวัดก็เย็นสบาย เพราด้านข้างของวัด เป็นประตูเปิดโล่งตลอด มีระเบียงทั้งด้านซ้าย และด้านขวา อีกอย่างที่หนูชอบมากคือ กระจกสีรูปพระ และนักบุญต่างๆ ตรงผนังด้านบนของวัด เวลาแสงอาทิตย์ส่องมากระทบยิ่งดูสวยจนหนูเดินมองเพลินเลยทีเดียว (อยากมาดูของจริงต้องมาที่วัดเองค่า)
แต่หนูถ่ายภาพของศิลาฤกษ์มาให้ชมด้วย







เสกศิลาฤกษ์ วันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1985 โดยพระสังฆราชยอแซฟ เอก ทับปิง
วางศิลาฤกษ์ วันที่ 31 มกราคม ค.ศ.1988 โดยพระสังฆราช ยอห์น บอสโก มนัส จวบสมัย โอกาสระลึกศตวรรษสมโภช 100 ปี มรณภาพพ่อบอสโก
เสกวัดใหม่ วันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1990 โดยโดยพระสังฆราช ยอห์น บอสโก มนัส จวบสมัย






ตอนบ่ายหลังจากเก็บของล้างหน้า ล้างตาที่บ้านพัก แบบโฮมเตย์ ใน อ.เมือง จ.ราชบุรี แล้วเราก็มุ่งหน้าสู่วัดที่สอง คือ วัดนักบุญเปาโลกลับใจ อ.โพธาราม ตอนแรกคิดว่าจะไม่มีบุญได้ไปหา นักบุญเปาโลซะแล้ว เพราะป่าป๊าป้ำเป๋อ ลืมแผนที่ไว้ที่กรุงเทพฯ ต้องโทรศัพท์ถามจากคนที่บ้าน แต่ก็ยังขับวนไปวนมาอยู่แถวนั้น หาไม่เจอซักที ทั้งๆ ก็วิ่งอยู่บนหน้าถนนโรงพยาบาล-บ้านฆ้อง และพยายามมองหาหาวัด กับป้ายชื่อวัดตามเส้นทางนั้น แต่แล้วก็หาไม่พบ จนต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บริเวณหน้าสถานีรถไฟโพธาราม ให้ช่วยนำทางให้








จากที่หลงอยู่ เป็นหลายนาที ก็แป๊ปเดียวสามารถถึงที่หมายได้ ซึ่งปัจจุบันนี้วัดอยู่ในซอยฝั่งตรงข้ามของโรงเรียนโพธาพัฒนาเสนี คือ ซอยที่ 8 หมู่ที่ 8 ถ.โรงพยาบาล-บ้านฆ้อง ต.คลองตาคด และหน้าปากซอยมีบ้าน และตึกแถว สร้างขึ้นมาบนริมถนนแล้วทำให้การมองจากถนน นั้นมองไม่เห็นวัดนักบุญเปาโล ซึ่งเป็นวัดเล็กๆ ภายนอกดูคล้ายบ้านพักอาศัย มีชั้นเดียว ขนาดกะทัดรัด ตรงรั้วด้านข้างวัดที่ติดกับซอย มีรูปปั้นแม่พระ และนักบุญเปาโล ให้ผู้มีจิตศรัทธาได้เข้าไปไหว้ และ ถวายดอกไม้ได้ ตอนที่หนูไปนี้ไม่ได้เข้าไปภายในวัด เนื่องจากวัดปิดและไม่มีผู้ดูแลอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็เป็นวัดที่น่ารักอีกแห่งหนึ่งในเมืองราชบุรี ที่คอยให้บริการกับชุมชนโพธารามแห่งนี้ จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน มาฉลองปิดปีนักบุญเปาโลที่วัดแห่งนี้กันนะค่ะ.. เพราะก็ไม่ไกล ไม่ใกล้จากเมืองกรุง




เช้าวันอาทิตย์ หลังจากอาบน้ำ ล้างหน้า (แม่ทำให้) กินอาหารเช้า (อันนี้หนูทำเองได้) แล้ว เราก็ออกเดินทางสู่วัดที่สาม คือ วัดแม่พระฟาติมา ห้วยคลุม อ.สวนผึ้ง วัดนี้เรียกได้ว่าอยู่บนภูเขาเลยทีเดียว เลี้ยวจากถนนสายหลักปากทางที่จะเข้าโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา วิ่งเข้าไปประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะเห็นป้ายบอกทางขึ้นไปบริเวณวัดแม่พระฟาติมา ธรรมชาติสองข้างทางสวยมาก หนูเพิ่งเคยเห็นภูเขาใกล้ๆ อย่างนี้เป็นครั้งแรก เลยตื่นตาตื่นใจ วัดนี้เป็นวัดขนาดกลาง สร้างด้วยไม้เป็นส่วนใหญ่ รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหอระฆังด้วย พวกเราที่ไปได้มีโอกาสเจอคุณพ่อเจ้าวัด ซึ่งท่านก็เล่าว่า สัตบุรุษที่นี่ ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าปากะญอ อาศัยอยู่รอบๆ บริเวณวัด บางคนก็อยู่ใกล้ บางคนก็อยู่ไกล บางคนอุ้มลูก จูงหลาน เดินทางมาหลายกิโลเมตรเหมือนกัน มิสซาทุกวันอาทิตย์ เวลา 9.00 น.

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านซึ่งคุณพ่อซาวีโอ (มนตรี) จูสวย สงฆ์ไทยอาวุโสได้เคยมาทำงานแพร่ธรรมอยู่ก่อนแล้ว หลายปี คุณพ่อซาวีโอเป็นที่รักของชาวปากะญอเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกำนันละเอิง บุญเลิศ คุณพ่อเข้า - ออกที่นั้นเป็นประจำทุกอาทิตย์ โดยพักอาศัย กินอยู่ และหลับนอนที่บ้านของกำนันผู้นี้ ในที่สุดคุณพ่อก็ได้ซื้อที่ดิน 1 แปลง มีเนื้อที่ 1 ไร่ ในหมู่บ้านนี้ ด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของคุณพ่อเอง และได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ 1 หลัง เป็นบ้านไม้ 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่พัก ชั้นล่างปล่อยโล่ง ๆ

เมื่อปี ค.ศ.1982 คุณพ่อวิโรจน์ อินทรสุขสันต์ ได้ไปช่วยงานสังฆมณฑลเชียงใหม่ ตามโครงการมิสซังพี่ – มิสซังน้อง เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดพระหฤทัย เชียงใหม่ ครบวาระ 6 ปี จึงได้ย้ายกลับมาสังฆมณฑลราชบุรี และเข้าดำรงตำแหน่งอธิการบ้านเณรเล็กราชบุรี คุณพ่อเคยมีความสนใจในงานแพร่ธรรมกับคนต่างศาสนาโดยตรง จึงได้เข้ามาสำรวจว่ามีมีครอบครัวคริสตังค์อยู่จำนวนเท่าไร หลังจากนั้น คุณพ่อจึงได้นัดพบกัน เพื่อทำมิสซาเดือนละครั้งในวันเสาร์ต้นเดือน โดยมิสซาจะเป็นภาษาไทย แต่จะเทศน์และขับร้องเป็นภาษาปากะญออาศัยกลุ่มเณรปากะญอเป็นผู้ช่วย มีคนมาร่วมมิสซาด้วยประมาณ 30 - 40 คน เป็นกะเหรี่ยงล้วน ๆ
ปี 1986 ได้ขอครูสอนคำสอนชาวกะเหรี่ยงจากเชียงใหม่ 1 คนมาอยู่ประจำ เพื่อสอนคำสอน สอนสวดบทสวด สอนขับร้องเป็นภาษาปากะญอให้แก่ผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากมักจะพูดไทยไม่ได้ และในปีนี้เองได้เริ่มส่งเด็กๆ ปากะญอมาเรียนคำสอนภาคฤดูร้อนที่ศูนย์สังฆมณฑลราชบุรี ปรากฏว่าได้ผลดีเกินคาด พูดไทยคล่องขึ้นและมีความกล้าขึ้นอีกด้วย นอกนั้นทางวัดยังได้จัดรถพาคริสตังค์กลุ่มนี้ออกไปร่วมฉลองในโอกาสต่าง ๆ ของสังฆมณฑลด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้เป็นการเปิดหูเปิดตาให้รู้จักศาสนจักรคาทอลิกมากขึ้น พวกเขาจะได้เกิดความเชื่อ ความศรัทธามากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 1987 ได้เริ่มลงรากสร้างวัดใหม่ถวายแด่แม่พระฟาติมา บนเนินสูงเหนือหมู่บ้าน เป็นวัดเล็ก ๆ ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 21 เมตร สามารถบรรจุคนได้ 100 คน ด้านหลังวัดทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่พักพระสงฆ์ วัดหลังนี้ต้องใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 3 ปี จึงจะเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุขัดข้องทางด้านการเงินและคนก่อสร้าง ซึ่งต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาถึง 4 ชุด ระยะทางก็อยู่ห่างไกล กันดาร การขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างก็ลำบาก รถติดทราย ติดหล่มเป็นประจำ ซ้ำคนงานยังป่วยเป็นไข้มาเลเรียกันบ่อย ๆ อีกด้วย



ที่สุดวัดแม่พระฟาติมา ห้วยคลุม ก็สำเร็จลงและได้รับการเสกโดย พระสังฆราช มนัส จวบสมัย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1992 นอกจากตัววัดและหอระฆังแล้ว ก็ยังมีบ้านพักพระสงฆ์ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้าน 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้อีก 1 หลัง พร้อมศาลาอเนกประสงค์ซึ่งโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรีร่วมใจสร้างให้อีก 1 หลังด้วย



อู้หู.. ความลำบากเมื่อ 20 กว่าปีก่อนกว่าจะได้วัดหลังนี้มา ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้มีวัดและชุมชนที่น่ารักอีกแห่งหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะอยู่หากไกลจากตัวเมือง แต่ผู้คนที่นี้ยังสะอาดบริสุทธิ์ ยิ้มแย้ม แจ่มใส มีน้ำใจไมตรี มีคุณลุงคนหนึ่งชวนแม่ให้พาหนูเดินลงเขาไปเยี่ยมชมหมู่บ้านทางด้านล่างของวัด แม่มองทางลงก็ได้แต่ยิ้มกับคุณลุง ก็แหม ตอนขาลงนะไม่เท่าไรหรอก แต่ตอนขาขึ้นี่สิ แม่คงไม่อยากเข็นครก เอ๊ย เข็นหนูขึ้นภูเขา
ด้านข้างของวัดมีศาลาเล็กๆ ให้นั่งชมวิวด้วย มองออกไปเห็นทิวเขาสลับซับซ้อน มีบ้านคนอยู่ประปราย พื้นที่บางส่วนก็ถูกถางทำเป็นแปลงปลูกพืชดูเป็นระเบียบ ตัดกับภาพป่าไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ยิ่งอากาศเย็นๆ ช่วงเดือนธันวา ทำให้หนูรู้สึกเหมือนได้ไปเที่ยวเมืองนอกเลย (จริงๆ ก็ไม่เคยไปหรอก เห็นแต่ในโทรทัศน์) พักผ่อนสูดอากาศ ชาร์ตพลัง จนเต็มปอด เราก็ขอลาคุณพ่อ และลุงๆ ป้าๆ ชาวปะกาญอ เพื่อเดินทางต่อ (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ไม่มีความคิดเห็น: