2560/01/14

ถึงเวลาคนรุ่นใหม่ 2017

Leadership Trends 2017 "ถึงเวลาของคนรุ่นใหม่"

เนื่องจากในปี 2017 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนผ่านสู่มิติใหม่ที่สำคัญ 2 ประการคือ
(1) การเกิดการหลอมรวมของเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต (Technology convergence) ที่ทรงประสิทธิภาพ ที่ทำให้เกิดการพลิกผันทางเทคโนโลยี (Technology disruption)
(2) คนหนุ่มสาวยุค Millennial หรือ Generation Y และ Z ที่มีความคิดและวิธีการทำงานแบบใหม่ที่แตกต่างจาก Generation X เริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทในองค์กร จึงทำให้การบริหารจัดการในทุกมิติต้องเปลี่ยนไป

ประการแรก ประเด็นการหลอมรวมของเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตที่ทรงประสิทธิภาพ ซึ่งกำลังเข้ามาไล่ล่าผู้นำไม่ว่าจะเป็นการ shift ความเร็วของการรับส่งข้อมูลบน mobile จาก Mbps ไปสู่ Gbps, ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) ที่นำมาประยุกต์ใช้ในระบบ Social media, Search engine และ Data Analytics จนมีความฉลาดอย่างมาก ไปจนถึงเทคโนโลยีเข้ารหัส Cryptography อย่างเช่น Blockchain เป็นต้น จนทำให้ผู้บริโภคมีพลังอำนาจสูงขึ้น พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างถอนรากถอนโคน

ประการที่สอง ประเด็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ยุค Millennial (Gen Y ) และ Gen Z ที่มีความคิดแบบใหม่ที่แตกต่างจาก Gen X กำลังเริ่มก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อองค์กรในปี 2017 อย่างชัดเจน รวมทั้งมีอิทธิพลในการร่วมเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Digital transformation) และมีกำลังซื้อมหาศาล จึงทำให้การบริหารจัดการในองค์กรและการวางแผนด้านการตลาดต้องถูกเปลี่ยนไป เพราะการวางรากฐานขององค์กรที่มีอยู่เดิมเป็นการวางไว้โดย Baby boomers และ Gen X ซึ่งมีวิธีคิดที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

ผู้เขียนได้ค้นคว้าบทวิเคราะห์จาก reference ต่างๆ ที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้นำควรดำเนินการในปี 2017 แล้วนำมาเชื่อมโยงกับประเด็น 2 ประเด็นสำคัญที่ตั้งไว้ จึงทำให้สามารถสรุป Leadership Trends ในปี 2017 ได้ 8 ข้อดังนี้

(1) ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น
ผู้นำองค์กรในปี 2017 ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรใน Gen Y ซึ่งถือว่าเป็น work force หลักขององค์กรในเวลานี้ ทั้งนี้เพราะพวกเขามีคุณลักษณะพิเศษที่แตกจากบุคลากร Gen X ที่เราเคยสัมผัสมาก่อนนี้ ผู้นำจึงควรเรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงความแตกต่างและมองให้เห็นถึงศักยภาพที่โดดเด่นกว่าบุคลากรในยุคก่อน ซึ่งหากผู้นำสามารถค้นหาศักยภาพที่มีค่าในตัวพวกเขา ก็จะทำให้องค์กรมีขีดความสามารถเหนือคู่แข่งในตลาดได้ไม่ยาก เพราะ Gen Y เหล่านี้เต็มไปด้วยพลังความคิดสร้างสรรค์และมีความคล่องแคล่วในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมาก

(2) มอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้องค์กรสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาสร้างความประทับใจและประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าในการตอบสนองพวกเขาแบบ realtime และเทคโนโลยีในปัจจุบันยังมีขีดความสามารถที่จะทำให้องค์กรสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการได้หลากหลาย และยังสามารถเปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถเข้ามาออกแบบสินค้าและบริการได้ตามที่ตัวเองต้องการ (personalization) ได้อีกด้วย โดยองค์กรในยุคนี้จะต้องเชื่อมกับลูกค้าเพื่อให้ข้อมูลและช่วยเหลือลูกค้ามากกว่าการพยายามขายสินค้า เพราะในวันนี้เทคโนโลยีได้ทำให้ลูกค้ามีพลังอำนาจเหนือองค์กรแล้ว ซึ่งผู้นำขององค์กรจะได้รับความท้าทายในการที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดและการบริหารแบบเดิมๆ ซึ่งมุ่งเน้นแต่ยอดขาย โดยผลที่ได้ออกมากลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

(3) สร้างการทำงานเป็นทีมในรูปแบบเครือข่าย
ผู้นำองค์กรต้องดำรงขีดความสามารถในปี 2017 นี้ จะต้องนำทีมในรูปแบบการทำงานร่วมกัน (collaboration) ไม่ใช่การสั่งการ นั่นคือ รูปแบบการทำงานที่มี Y Generation มีส่วนร่วมมากขึ้น ผู้นำจะต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ โดยต้องสร้างแรงบันดาลใจให้ทำงานเป็นเครือข่ายภายในทีม และยังต้องร่วมมือระหว่างทีมอีกด้วย การทำงานในรูปแบบตามสายงานตามลำดับชั้นนั้น เริ่มเป็นรูปแบบโบราณไปเสียแล้วสำหรับการทำงานในยุคนี้ และผู้นำจะต้องสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น การทำงานเป็นทีมร่วมกันระหว่าง freelance workers และ full-time workers ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างทีมแบบ "more flexible teaming" และที่สำคัญรูปแบบการทำงานตัองไม่ยึดติดกับสถานที่และเวลา

(4) องค์กรต้องเตรียมการการพบกันระหว่าง Millennials (Gen Y) และ Gen Z
ในปี 2016 ถือว่าเป็นปีแรกที่ Gen Z ได้จบการศึกษาและเข้ามาร่วมทำงานในองค์กร และในปี 2017 นี้จะเป็นปีที่พวกเขาต้องทำงานอย่างเต็มที่ ส่วน Gen Y จะมีบทบาทในระดับบริหารองค์กร จึงทำให้ในปี 2017 เป็นปีแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงความแตกต่างทางความคิดของบุคลากรทั้ง 3 รุ่นคน (X Y Z) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีความแตกต่างด้านอายุและด้านความคิดอย่างมาก ดังนั้นผู้นำองค์กร จะต้องเข้าใจถึงความต้องการของบุคลากรทั้งสามรุ่น รวมทั้งต้องปรับเปลี่ยนวิธีการพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อสร้าง momentum ให้เกิดขึ้นในองค์กรอีกด้วย

(5) ปรับโครงสร้างองค์กรให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่
องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างใหม่ด้วยหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างของบุคลากรใน generation ต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด ไปจนถึงผู้บริโภคที่จะมีพลังในการหาข้อมูลข่าวสารความรู้ พร้อมกับการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอย่างถอนรากถอนโคน ซึ่งทำให้องค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแพลทฟอร์ม (Digital platform transformation) ที่ตอบสนองแบบ realtime ได้อีกต่อไป โดยอยู่บนพื้นฐานของการทำงานเป็นทีมในรูปแบบเครือข่าย

(6) ใช้เทคโนโลยีเพื่อการวิเคราะห์และคาดการณ์อนาคตที่แม่นยำจะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กร
ผู้นำไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้เทคโนโลยี Data analytics ได้อีกต่อไป เพราะเครื่องมือชนิดนี้มีอยู่จริงในตลาด ซึ่งนำมาใช้เพื่อการติดตามตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆ ไปจนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยการจำลองพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกมิติในรูปแบบโมเดลทางคณิตศาสตร์ (Mathematical medel) และสามารถมอร์นิเตอร์พฤติกรรมผู้บริโภคได้เกือบ realtime โดยผู้นำองค์กรจะต้องแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ที่จะให้ทั่วทั้งองค์กรตัดสินใจและทำงานอยู่บนโครงสร้างพื้นฐาน mobile digital platform ที่ใช้ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลที่แท้จริงเป็นหลัก ด้วยการใช้ดุลยพินิจให้น้อยลง ทั้งนี้เพื่อความถูกต้องแม่นยำในการตัดสินใจ

(7) ตรวจสอบสัญญาณและผลกระทบจากการพลิกผันของเทคโนโลยี (Technology disruption) อย่างสม่ำเสมอ
ความเข้าใจในระบบนิเวศดิจิทัล (Digital ecosystem) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้นำในยุค Disruption เพราะหากขาดวิสัยทัศน์ มองภาพการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วไม่ออก ก็อาจจะนำพาองค์กรไปสู่หายนะในที่สุด ความประมาทของผู้นำและผู้บริหารที่มองข้ามสิ่งเล็กๆน้อยๆ อย่างไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ ก็สามารถทำให้องค์กรล่มสลายและหายไปจากตลาดได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งองค์กรที่มีอำนาจรุ่งเรืองมานานก็จะยิ่งทำให้ผู้นำตกอยู่ในความภาคภูมิใจ จนไม่เชื่อว่าจะมีใครมาท้าทายได้ ผู้นำจึงควรตรวจสอบสัญญาณการเปลี่ยนแปลงด้านการพลิกผันของเทคโนโลยีทั้งในอุตสาหกรรมของตนเองและอุตสาหกรรมข้างเคียงอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งติดตามสัญญาณการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าอย่างใกล้ชิด

(8) ผู้นำในปี 2017 ต้องเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
"CEO จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง" มุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงแก่บุคลากร ริเริ่มการกระจายอำนาจ ริเริ่มการทดลองทดสอบโครงการใหม่ๆ สร้างให้เกิดความร่วมมือ ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นประโยชน์สูงสุด และมีความรวดเร็วในการตัดสินใจ โดยองค์กรที่มี "ความเป็นผู้นำดิจิทัล" ที่ประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น "วัฒนธรรมองค์กร" คือกุญแจแห่งความสำเร็จ และความสำเร็จดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าเกิดจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความรู้กันทั่วทั้งองค์กร ไปจนถึงการร่วมมือกันในการสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ร่วมกันนั่นเอง ผลจากการสร้างสรรค์ความรู้ จึงทำให้บุคลากรทุกคนไม่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และพร้อมรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นกัน

Reference
[1] http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000123999
[2] http://www.forbes.com/sites/jeffboss/2016/12/20/be-better-prepared-for-2017-with-these-8-leadership-trend-projections/#50fe741f4b4d
[3] https://www.humancapitalgroupinc.com/blog/10-workplace-trends-youll-see-2017/
[4] https://www.fastcompany.com/3066670/innovation-agents/10-ceos-share-their-leadership-goals-for-2017
[5] http://cherylcran.com/2016/12/4-leadership-trends-2017-ready/
[6] http://www.businessrevieweurope.eu/leadership/1179/3-key-business-trends-to-watch-in-2017
[7] http://highperformancemanager.com/leadership-trends-for-2017/
[8] https://hbr.org/2016/01/a-10-year-study-reveals-what-great-executives-know-and-do
[9] https://hbr.org/2016/10/organizations-cant-change-if-leaders-cant-change-with-them
[10] https://hbr.org/2016/12/the-5-skills-that-innovative-leaders-have-in-common
----------------
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม
www.เศรษฐพงค์.com
1 มกราคม 2560

ไม่มีความคิดเห็น: