2554/09/09

ไรฝุ่น กับ โรคภูมิแพ้



ไรฝุ่น เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่อยู่ในตระกูล Phylum Arthopoda เช่นเดียวกับแมลงและแมง แต่มีลักษณะเด่นคือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเพียง 0.3 มิลลิเมตร ชอบอาศัยอยู่ในที่มีอุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียสและอยู่ในที่มีความชื้นสูงร้อยละ60-70 ไม่ชอบแสงสว่าง ดังนั้นในบ้านเรือนจึงพบไรฝุ่นได้ตามในที่นอน หมอน ผ้าห่ม พรหม บนโซฟา ผ้าม่าน หรือตุ๊กตาที่ใช้วัสดุภายในเป็นเส้นใย

โดยทั่วไปแล้วไรฝุ่นจะมีวงจรชีวิต 5 ระยะ คือเมื่อตัวไรเข้าสู่ช่วงเจริญวัยเต็มที่จะเริ่มทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังจากผสมพันธุ์ได้ 3-4 วัน ตัวเมียจะเริ่มวางไข่เฉลี่ยวันละ 3-4 ครั้ง แต่ละครั้งสามารถวางไข่ได้เพียงครั้งละ 1 ฟอง โดยตลอดชีวิตของไรฝุ่น 1 ตัว จะสามารถออกไข่ได้ถึง 80-100 ฟอง จากนั้นไข่จะเริ่มฟักเป็นตัวอ่อนภายในเวลา 8-12 วัน เข้าสู่ระยะวัยรุ่น 1 จะมีขา 6 ขา และทำการลอกคราบหลายครั้ง ซึ่งในระยะนี้จะไม่มีการเคลื่อนไหว เมื่อเริ่มสร้างผิวตัวและเจริญเข้าสู่ระยะวัยรุ่น 3 จะมีขาครบ 8 ขา แล้วก็พัฒนาเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัยที่มีลวดลายคล้ายนิ้วมือบนผิวตัว ไรฝุ่นจะมีช่วงอายุไขทั้งหมดเพียง 2-4 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหาร อุณหภูมิและความชื้นในอากาศด้วย

ไรฝุ่นมีชีวิตอยู่ได้โดยการกินเศษขี้ไคล ขี้รังแค สะเก็ดผิวหนังเป็นอาหาร โดยเศษผิวหนัง 1 กรัมสามารถเลี้ยงไรฝุ่นได้ 1,000,000 ตัวนานถึง 1 สัปดาห์ อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 25-30°C และความชื้นสัมพัทธ์ 75-80% สารก่อภูมิแพ้หลัก มักอยู่ในรูปของมูลและคราบของไรฝุ่น ซึ่งสามารถลอยปะปนอยู่ในอากาศและสูดดมเข้าไปได้ WHOได้กำหนด ระดับสารก่อภูมิแพ้ 2 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม หรือไรฝุ่น 100-500 ตัว/ ฝุ่น 1 กรัม เป็นระดับมาตรฐานที่สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืด และ 10 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม จะกระตุ้นให้ผู้ป่วยมีอาการหอบหืดอย่างเฉียบพลันได้ ในประเทศไทยพบสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 11 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม และในกรุงเทพฯ พบปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ เฉลี่ย 5 ไมโครกรัม/ ฝุ่น 1 กรัม

การป้องกันกำจัดไรฝุ่น
1. ทิ้งเครื่องนอน พรม เฟอร์นิเจอร์ที่ภายในทำจากวัสดุเส้นใย หรือนุ่นที่มีอายุการใช้งานหลายปี พบว่า ที่นอนที่ทำจากนุ่นจะพบไรฝุ่นมากที่สุด รองลงมาคือ ที่นอนใยสังเคราะห์ เสื่อ และที่นอนใยมะพร้าว อายุการใช้งานของที่นอนมากขึ้นก็จะพบปริมาณของไรฝุ่นมากขึ้นตามลำดับ

2. ใช้ผ้าที่มีเส้นใยสานกันแน่น พลาสติก หรือเส้นใย vinyl และ nylon หรือเคลือบด้วยสารป้องกันไรฝุ่น

3. การดูดฝุ่น สามารถเคลื่อนย้ายตัวไรฝุ่นออกจากที่นอน หรือพรมได้น้อยกว่า 10 %
4. การซักเครื่องนอนเป็นประจำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิอย่างน้อย 55 °C สามารถฆ่าตัวไรฝุ่นและกำจัดสาร ก่อภูมิแพ้ออกจากเครื่องนอนได้ ส่วนการซักด้วยน้ำเย็นหรือการซักผ้าตามปกตินั้น แม้จะไม่สามารถฆ่าไรฝุ่นได้ แต่ลดสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดไรฝุ่น ที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ benzyl benzoate, Acarosan โดยมักฉีดพ่นลงบนพรม พื้นห้อง และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ แต่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อาศัย


ข้อมูลจาก :
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ไม่มีความคิดเห็น: