2554/08/26

โรค "มือ เท้า ปาก"พันธุ์ใหม่


เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทนกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโรคมือ เท้า ปากในเด็กเล็กว่า ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่พบผู้เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก โดยเริ่มพบการระบาดของโรคตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย ขณะนี้ถือว่ายังอยู่ในระหว่างขาขึ้นของการระบาด

นพ.สุวรรณชัยแถลงว่า ที่ผ่านมาในประเทศไทยจะพบเชื้อมือ เท้า ปาก ที่เรียกว่าค็อกซากี (Coxsackie) ไวรัสชนิดเอ 16 แต่จากการเฝ้าระวังรอบการระบาดในปี 2554 พบว่ามีเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 (Entero Virus 71) หรืออีวี 71 มีความสัมพันธ์กับการทำให้สถานการณ์ของโรคระบาดรุนแรงขึ้น อีกทั้งการระบาดที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป แต่ครั้งนี้พบการระบาดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ โดย 1 ในผู้เสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว อายุเพียง 1 ขวบ 8 เดือน ทั้งนี้ การที่อายุของการระบาดต่ำลงทำให้เกิดความยากลำบากในการดูแล เพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกความผิดปกติได้เท่าเด็กโต ทำให้อาการทรุดหนักและเสี่ยงที่จะเสียชีวิต

"การระบาดที่รุนแรงครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากระบบเฝ้าระวังบกพร่อง แต่เกิดจากลักษณะของเชื้อและความรุนแรงของเชื้อที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งเด็กมีอายุน้อยลง ทำให้ภูมิต้านทานลดลง การควบคุมโรคทำได้ยาก ดังนั้น กรมควบคุมโรคจะสืบประวัติของผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีอาการหนักและเสียชีวิตในห้องไอซียู และผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงย้อนหลัง เช่น มีแผลในปาก มีการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจรุนแรง มีอาการชัก เป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังต่อไป" นพ.สุวรรณชัยกล่าว

นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับเด็กที่เสียชีวิตอีก 3 ราย อยู่ระหว่างรอผลยืนยันจากห้องปฏิบัติการว่าเป็นเชื้ออีวี 71 หรือไม่ ต้องใช้เวลาเป็นเดือน นอกจากนี้ ยังพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอีก 1 ราย จึงขอให้ผู้ปกครองเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ผู้สื่อข่าวถามว่า ในต่างประเทศมีการระบาดของโรคนี้หรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า ล่าสุดมีข้อมูลจากประเทศเวียดนามพบผู้ป่วยกว่า 23,000 ราย เสียชีวิตกว่า 80 ราย ซึ่งพบเชื้ออีวี 71 ปะปนอยู่เช่นกัน

ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พญ.ดวงพร อัศวราชันย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) พระนครศรีอยุธยา และกุมารแพทย์ รพ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วยมือเท้าปากส่วนใหญ่เป็นเด็ก เฉพาะในเดือนกรกฎาคมพบผู้ป่วยที่ รพ.จำนวน 39 ราย และเดือนสิงหาคมนี้มีเด็กป่วยแล้วจำนวน 20 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดเป็นโรคมือเท้าปากในกลุ่มของเชื้อชนิดเดิมคือเชื้อไวรัสค็อกซากี แต่ยังไม่พบกลุ่มของโรคมือเท้าปากที่เป็นเชื้อชนิดใหม่

"โรคมือเท้าปากจะติดจากสารคัดหลั่งในระบบทางเดินอาหาร เช่น น้ำลาย โดยเฉพาะเด็กจะติดโรคได้ง่าย เนื่องจากมืออาจจะไปสัมผัสโดนเชื้อ แล้วหยิบจับอาหารเข้าปาก ส่วนใหญ่จะติดเชื้อจากที่โรงเรียน เพราะเป็นที่รวมของเด็กๆ พ่อแม่ต้องเฝ้าดูอาการของลูกๆ ซึ่งอาการของโรคมือเท้าปากในกลุ่มเชื้อไวรัสค็อกซากี จะมีไข้ต่ำต่อเนื่อง เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มขึ้นในลำคอและตามข้อพับมือเท้าและที่สำคัญคือจะมีน้ำลายไหลต่อเนื่อง หากลูกๆ มีอาการดังกล่าวให้สงสัยว่าเป็นโรคนี้และรีบพบแพทย์เพื่อรักษา แต่หากเป็นโรคมือเท้าปากชนิดใหม่จะแสดงอาการเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีไข้สูงขึ้นและอาจชักหรือหัวใจวายเฉียบพลันได้ ถือว่าอันตรายมากหากพบแพทย์ไม่ทัน ทั้งนี้ โรคมือเท้าปากระบาดไม่เกี่ยวกับภาวะน้ำท่วม" พญ.ดวงพรกล่าว
ที่มา : มติชน 26 ส.ค.54

ไม่มีความคิดเห็น: