2552/02/09

อัศจรรย์แห่งชีวิต

ทุกคนมีความสุขอย่างมากในช่วงที่เด็กเกิด แต่ความสุขต้องหลีกทางให้กับความกังวลอย่างรวดเร็ว ทารกน้อยมีอาการแย่มาก ทีมกุมารแพทย์เริ่มลงมือรักษาทารกน้อยทันทีเมื่อเด็กคลอดและเกิดอาการผิดปกติ ดูเหมือนว่าทารกน้อยจำต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในห้องไอซียูสำหรับเด็กเล็กเป็นเวลาอีกออย่างน้อยสองสัปดาห์ “ความหวังมีน้อยมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชพูด “เตรียมใจไว้บ้างก็ดีครับ” สามีภรรยาผู้เป็นพ่อและแม่ต้องปวดร้าวที่ต้องติดติดต่อสุสานท้องถิ่นเรื่องฝังศพแทนที่การวางแผนจัดห้องนอนเด็กอ่อน ไมเคิลเฝ้าอ้อนวอนพ่อกับแม่ให้พาเขาไปพบหน้าน้องสาวบ้าง “ผมอยากร้องเพลงกล่อมน้องฮะ” แต่ห้องไอซียูไม่อนุญาติให้เด็กเข้า แม่ตัดสินใจพาไมเคิลเข้าไปเพื่อให้ไมเคิลได้พบน้องสาวให้ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ตาม แม่จับไมเคิลใส่ชุดกันเชื้อโรคและพาเข้าห้องไอซียูในขณะที่พยาบาลสั่งห้ามทันทีที่เห็น แต่แม่ยืนยันหนักแน่น “เขาจะไม่ออกไปจนกว่าจะได้ร้องเพลงกล่อมน้อง” ไมเคิลจ้องทารกน้อยที่กำลังพ่ายแพ้ต่อชีวิต ครู่ต่อมาเขาเริ่มร้องเพลงจากหัวใจบริสุทธิ์ของเด็กวัยสามขวบ “You are my sunshine, my only sunshine, you make me happy when skies are grey.” ทารกน้อยดูเหมือนจะตอบสนองในทันที ชีพจรเธอเริ่มสงบลงและเต้นเป็นจังหวะสม่ำเสมอ “ร้องต่อไปเรื่อยๆ จ้ะ ลูกรัก” ไมเคิลเริ่มร้องต่อ “You’ll never know, dear, how much I love you , please don’t take my sunshine away.” น้องสาวไมเคิลเริ่มผ่อนคลายอย่างสงบ “ร้องต่อไปจ้ะ ไมเคิล” เวลานี้ทั้งแม่และพยาบาลน้ำตาไหลอาบแก้ม “You are my sunshine, my only sunshine, please don’t take my sunshine away.” ไมเคิลร้องดังก้อง

วันต่อมา วันรุ่งขึ้น ทารกน้อยมีอาการดีขึ้นตามลำดับจนหายและกลับบ้านได้ในที่สุด นิตยสารวูแมนส์เดย์ เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “เพลงอัศจรรย์ของพี่ชาย” ส่วนทีมกุมารแพทย์เรียกมันว่า “อัศจรรย์” แต่แม่และไมเคิลขนานนามให้เป็น “อัศจรรย์ความรักของพระเจ้า”

เรียบเรียงจากเรื่องที่ 38 ในหนังสือ “อัศจรรย์แห่งชีวิต”*
*******************************

เรื่อง “อัศจรรย์” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกยุคทุกสมัย ไม่เฉพาะแต่สมัยของพระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่หากท่านที่ไม่เคยประสบกับตนเองก็จะไม่รู้สึกซาบซึ้งกับคำว่า “อัศจรรย์” หรือ “ปาฏิหาริย์” เท่ากับคนที่เคยประสบ ข้าพเจ้าอ่านเรื่องข้างต้นที่ยกมาจากหนังสือ “อัศจรรย์แห่งชีวิต” ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเรื่องราวของสองสามีภรรยาสองคู่ ทั้งสองคู่มีภาวะความเสี่ยงที่บุตรจะเกิดมาเป็นโรคทาลัสซีเมีย*

ในสมัยก่อน 40 กว่าปีที่แล้ว ยังไม่มีการตรวจความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ก่อนคลอดเหมือนปัจจุบัน สามีภรรยาคู่แรกให้กำเนิดบุตรชายและบุตรสาวหลายคน แต่มีสองคนที่เป็นทาลัสซีเมียซึ่งเป็นโรคเลือดชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะผิดปกติแตกสลายเร็วกว่าที่ควร ทำให้มีอาการซีดเรื้อรัง เด็กน้อยทั้งสองคนไม่แข็งแรงตั้งแต่เกิด ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อยๆ เพื่อรับการให้เลือด แพทย์แจ้งกับผู้เป็นพ่อและแม่ของเด็กน้อยทั้งสองว่า เด็กทั้งสองนี้จะมีอายุไม่นาน โดยทั่วไปไม่เกิน 15 ปี พ่อแม่ต้องทำใจ แต่ทั้งสองท่านมีศรัทธาในพระเจ้ามาก ขอพระพรจากพระเจ้าเพื่อบุตรชายทั้งสองของตนเสมอ จนเวลาล่วงเลยมา 40 กว่าปี บุตรชายคนหนึ่งได้จากไปก่อนด้วยวัยเพียงสามสิบกว่าๆ แต่บุตรชายอีกคนสามารถแต่งงานมีทายาทสืบสกุลที่สมบูรณ์ทุกประการได้อย่างน่าอัศจรรย์ ถึงแม้ว่าชีวิตของเขาทั้งสองจะไม่ยืนยาว แต่ก็มากพอที่เขาจะได้รับความรัก ความอบอุ่นจากพ่อแม่ และถ่ายทอดความรักนั้นสู่ลูกชายของเขาได้เช่นกัน “อัศจรรย์” ที่มีชีวิตอยู่ได้ยืนยาวมากกว่าที่แพทย์คาดการณ์ไว้กว่ายี่สิบปี เรื่องราว “อัศจรรย์” ทำนองนี้เกิดขึ้นเสมอ

และก็เกิดขึ้นกับสามีภรรยาคู่ที่สองที่ข้าพเจ้ากำลังจะกล่าวถึงซึ่งเป็นคู่ที่มีภาวะความเสี่ยงในการมีบุตรเป็นทาลัสซีเมีย (อัตรา1 ใน 4) เช่นเดียวกับคู่แรก แต่ทั้งคู่อยู่ในยุคปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้ามากแล้ว สามารถตรวจหาความเสี่ยงได้ก่อนเด็กคลอด (การวินิจฉัยก่อนคลอด Prenatal diagnosis) ทั้งคู่เลือกโรงพยาบาลที่ดีที่สุดเพื่อดูแลบุตรในครรภ์เป็นอย่างดี และแพทย์ก็ยืนยันว่าไม่พบความเสี่ยงดังกล่าว แต่ในเดือนที่แปดของการตั้งครรภ์ก็เกิดภาวะผิดปกติ ทำให้แพทย์ต้องตัดสินใจผ่าคลอด และเมื่อคลอดแล้วก็พบว่าทารกมีร่างกายไม่สมบูรณ์ คือมีโครโมโซมผิดปกติทำให้หัวใจของเด็กน้อยมีแค่ 3 ห้อง แพทย์แจ้งให้ทำใจ เพราะทั่วไปเด็กจะอยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือน เด็กน้อยต้องอยู่ตู้อบในห้องไอซียูสำหรับเด็ก เมื่อทราบข่าวทุกคนในครอบครัวต่างเศร้าโศกเสียใจ อยากจะให้ “อัศจรรย์” หรือ “ปาฏิหาริย์” เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ใจก็ยอมรับว่ามันเป็นไปไม่ได้ และแล้วเด็กน้อยก็ต้องจากไป สามีภรรยาผู้เป็นพ่อแม่ของเด็กน้อยคือผู้ที่ปวดร้าวที่สุด ยากที่จะทำใจยอมรับได้ และต้องพักฟื้นใจกันอีกระยะหนึ่ง

ทว่าทั้งสองคนและทุกคนในครอบครัวต่างเชื่อมั่น หากมี “ศรัทธา” สิ่งที่เราเชื่อมั่นจะต้องเป็นจริงได้ และข่าวดีก็เข้ามาให้ครอบครัวได้ดีใจกันอีกครั้ง เมื่อทราบว่าผู้เป็นภรรยาได้ตั้งครรภ์อีกครั้ง และครั้งนี้ทุกคนในครอบครัวร่วมกันแสดงความศรัทธาและวอนขอพระพรจากพระผู้เป็นเจ้า บทสวดสำคัญที่สวดกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอในช่วงนั้น นอกจากการสวดสายประคำทุกวันแล้วนั้น นั่นคือบทสวด “พระเมตตา” ทุกวันศุกร์ และความชื่นชมยินดีก็มาถึง เมื่อครบกำหนดคลอด ครอบครัวก็ได้สมาชิกใหม่เป็นเด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู พวกเขาจึงตั้งนามนักบุญให้เด็กน้อยนี้ว่า “โฟสตินา”* เพื่อยืนยันถึง “พระเมตตา” ของพระเยซูเจ้า สายรุ้งและแสงแดดหลังพายุฝนกระหน่ำนั้นสวยงามเช่นไร ครอบครัวนี้เข้าใจความหมายได้อย่างลึกซึ้ง ถึงแม้ดูเหมือนว่าจะถูกทดลองความเชื่อมาก่อนที่จะพบกับความสุขก็ตาม
“อัศจรรย์”นั้นมีจริง และเกิดขึ้นได้กับทุกคนแสมอ หากเรา “เชื่อมั่น” และมี “ศรัทธา”

หมายเหตุ
* หนังสือ “อัศจรรย์แห่งชีวิต ฉบับความรักและมิตรภาพ” ยิตตา ฮัลเอบร์สแตม และจูดิธ เวลเวสนธัล เขียน / สิทธิพร ชุมชื่นจิตร์ เรียบเรีบง จาก Small Miracle of love & Friendship

* ทาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ทำให้ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงที่มีลักษณะผิดปกติแตกสลายเร็วกว่าที่ควร ทำให้มีอาการซีดเหลืองเรื้อรัง ผู้ที่มีอาการแสดงของโรคนี้ จะต้องรับกรรมพันธุ์ที่
ผิดปกติมาจากทั้งฝ่ายพ่อและแม่ (ซึ่งอาจไม่มีอาการแสดง) ถ้ารับจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว จะไม่มีอาการแสดง แต่จะมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติอยู่ในตัวและสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานต่อไป ในประเทศไทยพบว่ามีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติของโรคนี้ โดยไม่แสดงอาการเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนอีสาน อาจมีถึง 40% ของประชากรทั่วไปที่มีกรรมพันธุ์ของโรคนี้ สาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ผู้ที่มียีนธาลัสซีเมียทั้งที่เป็นโรคและเป็นพาหะจะสามารถถ่ายทอดยีนที่ผิดปกติไปสู่ลูกหลานได้ ในกรณีที่พ่อหรือแม่เป็นพาหะเพียงคนเดียว โอกาสที่ลูกเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 หรือครึ่งต่อครึ่ง แต่จะไม่มีลูกคนใดเป็นโรค ในกรณีที่พ่อและแม่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียทั้งคู่โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 1 ใน 4 โอกาสที่จะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 และ โอกาสที่จะปกติเท่ากับ 1 ใน 4 ในกรณีที่พ่อและแม่ ฝ่ายหนึ่งเป็นโรค และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพาหะ โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคเท่ากับ 2 ใน 4 และ โอกาสที่จะเป็นพาหะเท่ากับ 2 ใน 4 โดยลูกไม่มีโอกาสปกติเลย (ข้อมูลจาก ไทยแลปออนไลน์ เฮท์ลไซต์)

* นักบุญ “โฟสตินา” มีชื่อเดิมว่า เฮเลนา โควาลสกา เกิดเมื่อวันที่25 สิงหาคม ค.ศ.1905 ที่หมู่บ้านโกลโลวิค ประเทศโปแลนด์ เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 10 คน เมื่ออายุเกือบ 20 ปี ได้เข้าอารามภคินี คณะพระแม่แห่งความเมตตา สมาชิกคณะนี้อุทิศตนเพื่อดูแลให้การศึกษาแก่สตรีที่ประสบปัญหาชีวิต ปีต่อมาได้รับเครื่องแบบนักบวชและรับนามใหม่ว่า ซิสเตอร์มาเรีย โฟตตินา ปี 1928 พระเยซูเจ้าเริ่มเผยแสดงพระองค์ต่อท่าน ปี 1930 ซิสเตอร์โฟสตินา ได้รับสารแห่งพระเมตตาจากพระเยซูเจ้า และเริ่มเขียนบันทึกยาวกว่า 600 หน้า เกี่ยวกับการเผยแสดงต่างๆ ที่ได้รับเกี่ยวกับพระเมตตาของพระเป็นเจ้า เป็นเครื่องมือเน้นย้ำแผนการแห่งพระเมตตาของพระเป็นเจ้าสำหรับชาวโลก ชีวิตของท่านเลียนแบบองค์พระคริสตเจ้า ท่านพลีกรรมและมีชีวิตเพื่อผู้อื่น ท่านเต็มใจถวายความทุกข์ทรมานส่วนตัวร่วมกับพระองค์ เพื่อชดเชยบาปของผู้อื่น ทำกิจเมตตา กระตุ้นให้ผู้อื่นวางใจในพระเป็นเจ้า เพื่อเตรียมชาวโลกให้พร้อม สำหรับการเสด็จกลับมาอีกครั้งหนึ่งของพระองค์ ท่านทำตามคำสอนของพระเป็นเจ้าที่ตรัสว่า "จงมีความเมตตากรุณา เหมือนพระบิดาของท่านผู้ทรงเมตตา" ท่านมรณกรรมเมื่อปี 1938
ซิสเตอร์โฟสตินาได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญ โดยสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ.2000 พระองค์ตรัสในคำเทศน์ตอนหนึ่งว่า ชีวิตของซิสเตอร์ โฟสตินา โควาลสกา เป็นดังของประทานจากพระเป็นเจ้าเพื่อยุคสมัยของเรา ชีวิตที่ถ่อมตนของท่านเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 คนที่ยังจดจำได้ย่อมตระหนักดีว่า ณ เวลานั้นประชากรหลายล้านคนทั่วโลกต้องผจญกับความทุกข์ยากแสนทรมานเพียงไร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกต้องการสารแห่งความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง

สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ความรักพระเป็นเจ้า และความรักต่อพี่น้อง ชาย หญิงทั้งหลาย ไม่อาจแยกจากกันได้ ดังที่จดหมายของนักบุญยอห์นได้เตือนเราว่า "เรารู้ว่าเรารักบรรดาบุตรของพระเจ้า เมื่อเรารักพระเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์" (1 ยอห์น 5:2) แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักด้วยความรักที่ลึกซึ้ง โดยอาศัยตัวมนุษย์เองเท่านั้น แต่เราจะรักอย่างสิ้นสุดจิตใจได้ก็ต่อเมื่อได้เรียนรู้โดยซึมซับจากรหัสธรรมแห่งความรักของพระเป็นเจ้า เมื่อเพ่งมองพระองค์ซึ่งเต็มไปด้วยหัวใจแห่งความเป็นพ่อ ทำให้เรามีดวงตาใหม่ในการมองเพื่อนพี่น้องด้วยสายตาแห่งการไม่เห็นแก่ตัว เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ใจกรุณา และการให้อภัย ทั้งหมดนี้คือความเมตตานั่นเอง
(ข้อมูลจาก อุดมศานต์ - มีนาคม 2006)

ไม่มีความคิดเห็น: